นัดแรกสืบ 'ยูนิเน็ต' เช็คละเอียดทีโออาร์

นัดแรกสืบ 'ยูนิเน็ต' เช็คละเอียดทีโออาร์

นัดแรกสืบ "ยูนิเน็ต" เช็คละเอียดทีโออาร์ รอคำตอบกรมบัญชีกลางเดินหน้า-ชะลอ??

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกจับตามองว่า ทุจริตหรือไม่?? สำหรับกรณี ร้องเรียนการดำเนินโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ ยูนิเน็ต (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ทาง “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.61 ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ โดย นายอำนาจ กล่าวว่า เป็นการวางกรอบการทำงานเกี่ยวกับการร้องเรียนโดยเน้นไปที่ทีโออาร์ หรือ รายละเอียดขอบเขตงาน เท่านั้น ส่วนหลังจากนั้น จะมอบหมายให้คณะกรรมการไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสภาพแวดล้อม เอกสาร และพยานบุคคลต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงปกติ

“คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงมีหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียน ว่า มีมูลตามที่ร้องมาหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ส่งผลอะไรถึงผู้ถูกร้อง เป็นการทำงานตามกระบวนการทางวินัย ยังไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล ไม่มีการชี้ว่าใครจะมีความผิดแต่อย่างใด และการประชุมวันนี้ เพียงวางกรอบการทำงานและมอบหมายงานเบื้องต้นเท่านั้น แต่มั่นใจว่าจะสามารถสรุปผลการสืบหาข้อเท็จจริงได้ตามกรอบระยะเวลา 30 วันแน่นอน” นายอำนาจกล่าว

UniNet_first_page

นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำหนังสือไปหารือกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับรายละเอียดของทีโออาร์ดังกล่าว หากกรมบัญชีกลางให้ข้อหารือมาอย่างไร คงอยู่ที่ผู้ชี้แจงว่าจะนำมาใช้ในการชี้แจงหรือไม่ เพราะกรรมการมีหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงเพื่อชี้ว่ามีมูลหรือไม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ “นพ.ธีระเกียรติ” ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯชุดนี้ เนื่องจากเรื่องนี้มีการร้องเรียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ รมว.ศธ. ในฐานะผู้บังคับบัญชา ต้องตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง เพราะหากไม่ตั้งก็อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาชุดนี้ก็มีองค์กรประกอบครบ มีบุคคลภายนอก มีนิติกรจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นกรรมการด้วย และการทำงานก็เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงไม่ใช่ชี้ถูกชี้ผิด

สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทเอกชนมาร้องเรียนว่า การจัดประกวดราคาของโครงการยูนิเน็ต มีบริษัทเข้ารับการประมูล จำนวน 13 ราย แต่มีผู้มายื่นคุณสมบัติเพื่อขอประกวดราคาเพียง จำนวน 3 ราย และในจำนวนนี้เมื่อมีการประกวดราคาอิเลกทรอนิกส์ หรือ E-bidding แล้วพบว่า มีราคาต่ำกว่าราคากลางที่กรมบัญชีกลางกำหนดเพียง 100,000 บาท ทั้งที่งบประมาณของโครงการนี้มากถึง 200 ล้านบาท

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่าตามที่ได้ตั้งฝ่ายกฎหมายเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นพบว่ามีข้อพิรุจ เนื่องจากการเขียนข้อกำหนดขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ ดูเหมือนล็อคสเปคบริษัทแบบเฉพาะเจาะจง เช่น บริษัทที่เข้ามาประมูลจะต้องมีสำนักงานอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก สกอ. เป็นต้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะสืบข้อมูลการเขียนทีโออาร์เท่านั้น

“เรื่องนี้ผมไม่ได้สอบใครเป็นการเฉพาะ ซึ่งต้องไปดูการเขียนทีโออาร์ในลักษณะดังกล่าว เป็นการล็อคสเปกจริงหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบการเขียนทีโออาร์ครั้งที่ผ่านมาไม่มีการเขียนเรื่องกำหนดรัศมีของบริษัทที่จะเข้าร่วมประกวดราคา แล้วทีโออาร์ฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร ทั้งนี้หากพบว่ามีการล็อคสเปกจริง ต้องเป็นหน้าที่ของเลขาธิการกกอ. ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการว่าจะมีการดำเนินการตามที่ได้ประมูลไปก่อนหน้านี้ หรือจะชะลอเรื่องดังกล่าว ซึ่งถ้าเลขาธิการ กกอ.รู้ว่ามีการล็อคสเปกเกิดขึ้นก็ต้องใช้ตรรกะคิดแล้วว่าควรจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่ " รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้มาดูแลเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าวในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงาน สกอ. เบื้องต้นได้พูดคุยกับ นายสุภัทร แล้ว แต่นายสุภัทร. ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามขั้นตอนด้วย เพราะถือว่า นายสุภัทรยังไม่ได้มีความผิดเพียงแต่ถูกร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาอย่างแน่นอน

ส่วนการชะลอการประมูลโครงการนี้ไว้ก่อนหรือไม่ คิดว่าเรื่องนี้คงทำเองไม่ได้จึงให้ นายสุภัทร ใช้ช่องทางพิเศษไปปรึกษากับกรมบัญชีกลางถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่า สกอ.จะชะลอการประมูลโครงการนี้ไว้ก่อนได้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยและข้อร้องเรียนเกิดขึ้น โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงจะเดินหน้าไปพร้อมกับการรอคำตอบจากกรมบัญชีกลาง เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลยืนยันในการสั่งชะลอหรือเดินหน้าต่อในการประมูล

service format

ขณะที่ นายสุภัทร กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือปรึกษาไปยังกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้สอบถามใน 2 ประเด็น คือ การที่มีผู้ร้องเรียนกระบวนการประกวดราคาและมีคำสั่งให้ชะลอหรือยุติกระบวนการประกวดราคาที่ดำเนินการมาแล้วสามารถทำได้หรือไม่ หรือสามารถทำการชะลอ หรือยุติ ได้โดยวิธีการใด และขอให้กรมบัญชีกลางช่วยพิจารณาตรวจสอบข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ด้วยว่าเป็นไปตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่

ทั้งนี้ ยังได้ชี้แจงข้อมูลตามที่มีการร้องเรียนและในส่วนที่นพ.ธีระเกียรติ สอบถามเพิ่มเติม เสนอให้ รมว.ศธ. และจากนี้คงต้องรอคำตอบจากกรมบัญชีกลาง เพื่อนำมาชี้แจงให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะเป็นแบบระบบโมเน็ตหรือไม่ คงต้องรออีก 30 วัน ว่าทีโออาร์ส่อแววล็อกสเปค และรอฟังคำตอบจากกรมบัญชีกลาง ชะลอหรือเดินหน้าการประกวดราคา “ยูนิเน็ต”