ป.ป.ช. จ่อขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน 60 วัน ทุกตำแหน่งที่ไม่เคยยื่น

ป.ป.ช. จ่อขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน 60 วัน ทุกตำแหน่งที่ไม่เคยยื่น

"วิษณุ" เรียกถกแก้ปัญหา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามประกาศใหม่ ป.ป.ช. เผยชัดในเร็ววัน ด้าน "ป.ป.ช." เผย จ่อ ขยายเวลา 60 วัน ทุกตำแหน่งที่ไม่เคยยื่น

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.61 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเชิญผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 2ธ.ค.นี้ อาทิ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมหารือเมื่อ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าแต่ละฝ่ายจะไปดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบให้มีความชัดเจน และจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเร็ววันนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า การหารือได้ข้อสรุปว่าจะขยายเวลาให้กับกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย ได้แก่ กองทุนธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝากสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ อย่างไรก็ตามในการหารือได้ข้อเสนอแนะที่ดี ซึ่งป.ป.ช.คงต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล เปิดเผยว่า ได้รายงานถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เกี่ยวกับการขยายเวลา 60 วันในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่งตามประกาศดังกล่าว พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยได้รับฟังแนวทางจากหลายฝ่าย ซึ่งในสัปดาห์หน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะมีความชัดเจนขึ้น เบื้องต้นเห็นว่าการขยายเวลายื่นตามกฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่นั้น ควรจะขยายเวลา 60 วัน ในทุกตำแหน่งที่ยังไม่เคยยื่นฯ ไม่ใช่เฉพาะ 5 ตำแหน่งตามมติป.ป.ช.ที่เคยมีก่อนหน้านี้เพื่อความเสมอภาค

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนความยุ่งยากในการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ทำให้ผู้ยื่นรู้สึกว่าจุกจิกรำคาญนั้น ป.ป.ช.ได้รับไปพิจารณาปรับแก้พร้อมหาแนวทางการยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่น และสามารถตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ก่อนจะประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป จึงอยากให้นายกผและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่คิดจะลาออก รอให้มีความชัดเจนก่อนค่อยตัดสินใจ เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหานี้จะเป็นที่น่าพอใจกับทุกฝ่าย และไม่ทำให้กระบวนการตรวจสอบลดน้อยลงแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่จะได้รับการขยายเวลา 60 วันด้วย ประกอบด้วย 1.กองทุน ได้แก่กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนยุติธรรม กองทุนสงเคราะห์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 2.ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แก่ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ประธานกรรมการและกรรมการก.ล.ต. เลขาธิการก.ล.ต.

4.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้แก่ ประธานกรรมการและกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยรวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการคปภ. 5.สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้แก่ประธานกรรมการและกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากและผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 6.สถาบันพระปกเกล้า ได้แก่ ประธานสภาสถาบันรอง ประธานสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน และเลขาธิการสถาบัน 7.สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ได้แก่ นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยรวมถึงอธิการบดี