ดีเดย์! ภาครัฐเพิ่มใช้ยางดันราคาเพิ่ม

ดีเดย์! ภาครัฐเพิ่มใช้ยางดันราคาเพิ่ม

"กฤษฎา" ดีเดย์! หน่วยงานรัฐเพิ่มใช้ยางผลักดันราคายางขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5 บาท กรมชลฯจ่อทำถนนผสมยางพารา 999 กม.ใช้น้ำยางกว่า 3.5 พันตัน ทุ่มงบ 3.5 พันล้าน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง โดยให้หน่วยงานรัฐใช้สูตรคำนวนราคากลางงานดินซีเมนท์ผสมยางพารา สำหรับหลักเกณฑ์การคำนวณงานก่อสร้างทาง สะพานและท่อเหลี่ยมและหลักเกณฑ์คำนวนราคากลางงานก่อสร้างชลประทานนั้น นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานว่าโครงการสร้างถนนคันคลองชลประทาน ใน53จังหวัดแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีตซึ่งใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอยและหินเกล็ด ในสูตรผสมยางพารา 2 ตันต่อกิโลเมตรต่อความกว้างถนน 6 เมตร เป็นผิวทาง มีทั้งสิ้น 874 กิโลเมตร ใช้ยาง 1,750 ตัน งบประมาณ 3,128 ล้านบาท

อีกประเภทคือ ถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราซึ่งใช้ยางพาราผสมกับลูกรังและปูนซีเมนต์ ในสูตรผสมยางพาราประมาณ 15-18 ตันต่อกิโลเมตรต่อความกว้างถนน 6 เมตร เป็นผิวทางเช่นกัน มีทั้งสิ้น 125 กิโลเมตรใช้ยาง 1,759 ตัน งบประมาณ 420 ล้านบาท รวมใช้ยางพาราทั้งสิ้น 3,509 ตัน ระยะทางรวม 999 กิโลเมตร งบประมาณ 3,548 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างถนนและทำสระเก็บน้ำให้ชุมชนของกระทรวงกลาโหมที่ได้แจ้งความจำนงต่อการยางแห่งประเทศไทยมา ซึ่งเมื่อมีราคากลางตามพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะทำให้ทุกหน่วยงานที่แจ้งความประสงค์ไว้ต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คาดว่า ดูดซับยางออกจากตลาดเพิ่มอีก1.9แสนตัน จากที่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐไปได้เพียง 8,800 ตันเท่านั้น

สำหรับโครงการทำถนนในหมู่บ้าน 75,032 หมู่บ้านและ 7,255 ตำบลทั่วประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสรรงบประมาณทำถนนอย่างน้อยแห่งละ 1 กิโลเมตร โดยราคาทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพาราเฉลี่ยกิโลเมตรละ 3 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นค่ายางพาราประมาณกิโลเมตรละ 400,000 บาท งบประมาณรวม 24,000 ล้านบาท โดยการทำถนนนั้นกำหนดให้รับซื้อยางพารายาจากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ไม่ใช่จากบริษัทต่าง ๆ

โครงการนี้จะต้องใช้น้ำยางพาราไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน (1ก.ม.ใช้น้ำยางพาราสด 12 ตัน) จะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่า จะทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับว่า คุมค่าเนื่องจากเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงสั่งการให้กยท. จังหวัดเร่งทำความเข้าใจกับผู้บริหาร อปท.ให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ผู้แทนชาวสวนยางพาราภาคใต้ได้แก่ นายมนัส บุญพัฒน์ สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) นายทศพล ขวัญรอด ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์ม นายเรืองยศ เพ็งสกุล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางรายย่อย นายทวี ขวัญศรีสุทธิ์ สมาคมผลิตยางแผ่นลุ่มน้ำทะเลใต้ และนายนิวัฒน์ ท่องวิถี กลุ่มรับซื้อน้ำยางหน้าสวน ซึ่งต่างขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เร่งดำเนินโครงการทำถนนผสมยางพารา

รวมทั้งยังได้สั่งการให้กยท. พิจารณาข้อเสนอของผู้แทนเกษตรกรเสนอให้ชดเชยราคาซื้อขายยางแผ่นดิบรมควันให้เทียบเท่ากับราคาส่งมอบที่ท่าเรือ (FOB) ซึ่งราคา FOB อยู่ที่เท่าไร กยท. จะชดเชยส่วนต่างให้ นับจากวันที่ได้ข้อสรุปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 62 ซึ่งเป็นวันปิดหน้า​ยาง​ โดยขณะนี้กยท. กำลังประชุมหารือกับผู้แทนเกษตรกรถึงความเป็นไปได้และวิธีดำเนินการที่เหมาะสม