ชี้ส.ว.ได้สิทธิเลือกนายกฯ ยันชูบทบาทช่วยประเทศเปลี่ยนผ่าน

ชี้ส.ว.ได้สิทธิเลือกนายกฯ ยันชูบทบาทช่วยประเทศเปลี่ยนผ่าน

อดีต "กรธ." ปัดรังเกียจฝ่ายการเมือง ชงส.ว.ได้สิทธิเลือกนายกฯ ยันชูบทบาทช่วยประเทศเปลี่ยนผ่าน

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องวายุภักษ์ 2 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรยายถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายในการเลือก ส.ว. ภายในงาน “กกต.พร้อมจัดการเลือก ส.ว.” ว่า ส.ว.ชุดนี้ต้องเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน เพื่อให้ส.ว.มีภาพลักษณ์ใหม่ โดยเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ผ่านการพิจารณาที่มาจากผู้เชี่ยวชาญและอัตลักษณ์เฉพาะ เพื่อเข้ามาเติมเต็มข้อบกพร่องที่มาจากฝ่ายการเมือง ยืนยันผู้ร่างกฎหมายไม่ได้รังเกียจฝ่ายการเมือง แต่ต้องการสร้างให้ประชาชนมีบทบาทโดยมีหน้าที่ร่างกฎหมายร่วมกับส.ส.ในเรื่องที่จะปฏิรูปประเทศ หรือเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องพิจารณาร่วมกันทั้งรัฐสภา โดยส.ว.ไม่ได้มีหน้าที่ถอดถอนแบบเดิม เพราะบทบาทส.ว.จะล่อแหลมถูกครอบงำในทางการเมืองผ่านการถูกวิ่งเต้นได้ จึงให้ไปทางศาลฎีกาเพื่อไต่สวนและตัดสินแทน

“สิ่งสำคัญของส.ว.มีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่ได้ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจ โดยสามารถตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายโดยไม่ต้องลงมติ โดยเฉพาะการมีคำถามว่า 5 ปีแรกจะมาเลือกนายกฯนั้น เพราะเชื่อว่าช่วงระยะเปลี่ยนผ่านการยึดอำนาจจะไม่เสียของหายไป แต่การออกแบบเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะบ้านเมืองต้องเดินหน้าต่อไป จากที่เรามีบทเรียนมามากว่าการมีรัฐธรรมนญแล้วเลือกตั้งทันทีทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางหรือไม่ แต่การเลือกจากส.ว.ส่วนหนึ่ง แม้อาจจะมีการดูว่าคนในรัฐบาลปัจุบันไปมีตำแหน่งต่อไป แต่ผมมองในมุมบวกว่าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดี โดยมีส.ว.ชุดเปลี่ยนผ่าน 5 ปีเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่การปฏิรูป” นายอุดม กล่าว

นายอุดม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การออกแบบรัฐบาลหลังการเลือกตั้งโดยคะแนน 750 เสียงของรัฐสภา ถ้าได้เกิน 375 ขึ้นไปจะได้นายกฯ แต่นายกฯจะบริหารประเทศได้หรือไม่ เพราะต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของส.ส.ในการบริหาร ดังนั้นการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปยังต้องพึ่งพิงส.ส. ด จึงเชื่อว่าส.ว. 250 คนที่คสช.เลือกมากต้องทำหน้าที่ประคับประคองบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกอีกครั้ง หากมีองค์กรที่มาประคับประคองรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ไปก่อน ดังนั้นการเลือกส.ว.ครั้งนี้ จึงอยู่ที่คสช.จะเลือกคนแบบไหน

นายอุดม กล่าวอีกว่า ส่วนกระแสข่าวว่าถึงมาสมัครแต่ก็ไม่มีโอกาสเป็นส.ว.นั้น พอจะคิดได้จากการออกแบบที่เกิดขึ้น เพราะหลายคนที่จะเข้าไปสมัครต้องมีจิตใจอยากจะร่วมทางการเมือง แต่เชื่อว่าหลายคนคิดว่าไม่จำเป็นแค่อยากมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น นอกจากนี้ เชื่อว่าทุกคนต่างมีผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์แบบไหนที่พอจะยอมรับได้ อย่างนักการเมืองก็มีผลประโยชน์ นักการเมืองอาจบอกว่าฉันมีแต่ความคิด ไม่มีปืนอะไร แต่เบื้องหลังฝ่ายการเมืองคือระบบทุน ถ้าระบบทุนเบี่ยงเบนกลายเป็นอำนาจต่อรองที่ฮั้วกัน จะเป็นข้อที่น่าคิดว่าใครจะไปต้านทานได้

“ส.ส.จะมาคานการเมืองในระบบพรรคการเมืองได้ เพราะการเมืองของเราะเน้นเรื่องทุน ยังเน้นพรรคพวก หากเป็นแบบนี้ทำให้การเมืองของเราสะดุดได้ง่าย จึงต้องให้ส.ว.มีกลไกมาช่วยผยุงระบบให้สมดุล แต่ไม่ได้ทำให้อำนาจส.ส.เสียหาย เพราะอย่างไรส.ส.ก็กำหนดรัฐบาล แต่ส.ว. 250 คนไม่ใช่จะไปรวมกับใครก็ได้ให้ได้เกิน 375 เสียง แต่ส.ว.ต้องไปรวมกับกลุ่มที่บริหารประเทศได้” นายอุม กล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า ส.ว.ชุดนี้จำนวน 250 คนเมื่อรวมกับ ส.ส. 500 คน จะได้รวม 750 คน ซึ่งส.ว.ชุดนี้มีวาระการทำงาน 5 ปี ดังนั้นในรัฐสภาจะส.ว.จะมีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะการ ไม่ต่ำกว่า 2 วาระ เรียกว่าเลือกนายกฯ 2 ครั้ง ดังนั้นทุกเสียงของส.ว.มีความสำคัญในการเลือกนายกฯ