บ.ยาออสซี่หนุนไทยเร่งพัฒนากัญชาทางการแพทย์

บ.ยาออสซี่หนุนไทยเร่งพัฒนากัญชาทางการแพทย์

บ.ยาออสซี่ พร้อมหนุนไทยพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ยันไม่รับเงินช่วยวิจัยจากรัฐบาลไทยแม้แต่บาทเดียว อวยไทยพร้อมทุกด้าน รอช้าอาจเสียโอกาสอุตสาหกรรมยา ขณะที่เลขาฯป.ป.ส.ย้ำผ่อนปรนใช้กัญชารักษาโรคยังต้องผูกโยงกับอนุสัญญา-พันธะกรณีที่ไทยทำไว้กับสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.61 โรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซด์ ในช่วงของการเสวนาหัวข้อการควบคุมกัญชาของประเทศออสเตรเลีย โดยนายอดัม เบนจามิน ผู้แทนบริษัทเมดิฟาร์ม ( Mr.Adam Benjamin Direct, Medifarm Australia) บรรยายถึงการดำเนินธุรกิจกัญชาทางการแพทย์ของภาคเอกชนในออสเตรเลียและข้อกำหนดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกรและผู้ป่วยในการใช้กัญชา ว่า การปลูกพืชกัญชาในออสเตรเลียจะถูกควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุข และจะมีการผลิตยาตามจำนวนของผู้ป่วยภายใต้การควบคุมทางการแพทย์ ที่ผ่านมาบริษัทยาของออสเตรเลียได้ไปลงทุนปลูกกัญชาและสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคที่ประเทศอิสราเอล โดยเทคโนโลยีในการผลิตยาจากพืชกัญชามีความล้ำหน้าในการวิจัยไปมาก เราพบว่า สาร THC มีประโยชน์และมีฤทธิ์กดประสาทและสามารถป้องกันอาการปวดจากโรคมะเร็ง การใช้ในผู้ป่วยจากโรคสมชัก และโรคพาร์กินสัน ทั้งหมดเกิดจากการวิจัยทางการแพทย์ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จนสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และมีการจัดจำหน่าย สำหรับประเทศไทยหากต้องการมีความก้าวหน้าก็ต้องได้ข้อสรุปให้ชัดเจน ทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูก การผลิต จนสู่มือของการแพทย์ และผู้ป่วย เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะไทยมีระบบสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยมจึงไม่มีอะไรน่าห่วง

นายอดัม กล่าวอีกว่า ไทยมีโอกาสที่จะผลิตยาจากสารสกัดกัญชา และทำให้มีความยั่นยืนได้ เนื่องจากมีผู้ป่วยด้วยโรคที่ต้องใช้น้ำมันสกัดรักษานับล้านๆคน จึงมีขีดความสามารถในการผิตยาและแพทย์ก็ความสามารถในการดูแลด้วยเช่น เดียวกันประเทศแพทย์ในยุโรปและอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้ และหากไทยอนุญาตให้มีการผลิตกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็จะทำให้มีรายได้มหาศาลไทย จะมีโอกาสการส่งออก หารายได้ และการจัดเก็บภาษีจากการส่งออกยากัญชาไปประเทศอื่นๆ เพราะไทยมีโอกาสที่ดีมากและมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นๆเพราะมีระบบสาธารณสุขที่ดี ในแคนาดาและออสเตรเลียหมอเป็นผู้ที่คนป่วยไว้วางใจที่สุด ดังนั้นหากยังไม่เริ่มดำเนินการและบอกว่าต้องรอก่อน ไทยก็จะเสียโอกาสมาก เนื่องจากขณะนี้ในหลายๆประเทศเริ่มมีการผลิตเพื่อใช้รักษาโรค และเป็นอุตสาหกรรมส่งออกไปแล้ว

"ถ้าต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยก็ต้องรีบทำทุกอย่างให้ถูกต้องโดย เฉพาะการนำสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมมาปลูกโดยไม่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธ์ และนำมาสกัดเป็นยารักษาโรค ขณะนี้ที่อิสราเอลมีฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากได้ช่วยเหลือประเทศไทยก็จะรู้สึกเป็นเกียรติ เรารู้ว่าไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงอยากช่วยเหลือโดยจะไม่ขอรับเงินจากรัฐบาลไทยแม้แต่บาทเดียวเพื่อช่วยเหลือไทยพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากขึ้น" นายอดัมกล่าว

ด้านนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำประโยชน์จากพืชกัญชาที่ผิดกฎหมายมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หากตัดสินใจผิดพลาดจะมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งการตามแก้ไขยากกว่าการป้องกัน โดยเฉพาะผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย ยอมรับว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นผลประโยชน์ชาติ รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยแต่ต้องมั่นใจในระบบควบคุมเพื่อไม่ให้กัญชาถูกนำไปใช้ทางที่ผิด ประเด็นสำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่ากัญชายังมีโทษและเป็นพืชเสพติด การผ่อนปรนให้กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ยังต้องผูกโยงกับอนุสัญญาและพันธกรณีที่ไทยทำไว้กับสหประชาชาติ ในออสเตรเลียมีการนำกัญชามาใช้รักษาโรคและไม่ได้ปลดจากบัญชียาเสพติด

"การอนุโลมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ พิจารณาจากบริบทของคนในสังคมไทย ไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีในประเทศแคนาดา ยุโรปหรือบางรัฐในสหรัฐอเมริกา เพราะวิถีชีวิตของคนไทยต่างจากคนแคนาดาและอเมริกา เราจึงต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้กัญชาถูกนำไปใช้เพื่อสันทนาการ" นายนิยม กล่าว

เลขาธิการป.ป.ส. กล่าวอีกว่า ยาเสพติดผิดกฎหมายยังเป็นหลักสากล การทำให้ถูกกฎหมายใช้เสรีในบางประเทศก็มีผลกระทบเชิงลบ ทั้งเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ จึงอยากให้ประชาชนเห็นทั้ง 2 ด้าน ส่วนตัวเข้าใจทุกภาคส่วนที่พยายามผลักดัน แต่ในฐานะกลไกรัฐต้องมองถึงผลกระทบและผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย หากเกิดขึ้นแล้วใครจะรับผิดชอบ ทั้งนี้ฐานข้อมูลผู้ป่วย 5 กลุ่มโรคที่ต้องการสารสกัดจากกัญชาไปรักษาจะตัวเลขยืนยันชัดเจนอยู่ที่เวชระเบียนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปเป็นฐานคำนวณพื้นที่ปลูกและกำลังการผลิตยาได้