ดึง 3 ม.ดังระดับโลก อัพมหาวิทยาลัยไทย

ดึง 3 ม.ดังระดับโลก อัพมหาวิทยาลัยไทย

ทปอ.-อนันดา ดีเวลลอปเม้มท์ เปิดตัว "How Cambridge Berkeley Stanford do Teac Transfer” โครงการปฎิวัติระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี ดึง 3 ม.ดังระดับโลก ยกระดับมหาวิทยาลัยไทย

"หมออุดม”ฝากความร่วมมือเอกชน-ทปอ.อย่าเป็นไฟไหม้ฟาง ให้ทำต่อเนื่อง ชี้รอรัฐเป็นผู้นำอาจไม่สำเร็จ ขณะที่อนันดาดีเวลลอปเม้มท์ ระบุ 3 ม.ชั้นนำโลก โดดเด่นเทคโนโลยีต่างกัน ช่วยม.ไทยสร้างนวัตกรรม ด้านทปอ. ขอทุกคนมีความหวังกับมหาวิทยาลัย


วันนี้ (16 พ.ย.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวในงานเปิดโครงการ "How Cambridge Berkeley Stanford do Teac Transfer" จัดโดยบริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะในวันที่ 31 ม.ค.2562 ณ อนันดา แคมปัส อาคาร FYI Center ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีเป้าหมายชัดเจนในการยกระดับประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ทัดเทียมนานาชาติ ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมา 20 กว่าปี ซึ่งจะเป็นประเทศพัฒนาได้ต้องสร้างนวัตกรรมของตนเองให้ได้ ที่ผ่านมาไทยซื้อนวัตกรรมจากต่างประเทศ 80-90 % ดังนั้น ประเทศจะไทยแลนด์ 4.0 ได้ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ และจะเกิดได้มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ 80% องค์ความรู้ใหม่เกิดในมหาวิทยาลัยแต่ที่ผ่านมาไม่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในเชิงนวัตกรรมได้ ถือเป็นการเสียโอกาสมาตลอด


"ความร่วมมือครั้งนี้ จะต้องเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง เพราะการที่ 3 มหาวิทยาลัยดัง อย่าง ม.เคมบริดจ์ ม.เบิร์กลีย์ และม.สแตมฟอร์ด มาช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพลิกประเทศไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัย เอกชน และรัฐบาลต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย และเอกชนที่ต้องเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างคนคุณภาพ คนไทย 4.0 ที่ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ทันโลก และไม่ใช่เก่งเฉพาะในประเทศ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดเป็นวัตกรรม ให้คุณค่าของการวิจัยเชิงพาณิย์ ต้องสร้างระบบให้เกื้อหนุน ขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นพลังสำคัญ ต้องมีการปรับวิสัยทัศน์ของบริษัท ให้มาสนับสนุนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตมากขึ้น เพราะจะให้ภาครัฐเป็นคนนำ คงไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่มีพลังมากพอ แต่ภาครัฐจะคอยสนับสนุน งบประมาณ และปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งภาครัฐเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นโดยดูได้จากการที่รัฐบาลเห็นชอบในการจัดตั้งกระทรวงใหม่ อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะมีหน้าที่ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เชื่อมโยงต่างๆให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมให้ได้ การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ จะทำให้มีพลังมากขึ้น” นพ.อุดม กล่าว


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธนาคารโลกหรือ World Bank ระบุรายได้เฉลี่ยต่อคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว 32,000 บาท แต่ประเทศไทยรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 15,000 บาท แสดงให้เห็นว่ารายได้เฉลี่ยยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว สะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศ การแก้ปัญหาด้านการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคนนั้น จึงต้องมองข้ามปัญหาและตั้งเป้าให้ชัดว่าผลสัมฤทธิ์จากการร่วมมือกัน จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้าง ทำอย่างไรให้คนไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนไทยไม่ใช่คิดเพียงอยากทำสิ่งเล็กๆ เรื่องเล็กๆ แล้วพอใจ อยากให้มองภาพใหญ่ของประเทศ
นายจอห์น เลสลี่ มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเชิงกลยุทธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้มท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากประสบการณ์ทำงานในหลายประเทศ และหลายมหาวิทยาลัย สังเกตว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีแตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุให้อนันดา ดีเวลลอปเม้มท์ ตัดสินใจจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุดจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ที่มีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีแตกต่างกัน เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศได้ อีกทั้งเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมถือเป็นวิสัยทัศน์หลักของอนันดา โดยภายในงานที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.62 นั้น จะมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่สุดของโลกทั้ง 3 แห่ง มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ แนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุดและร่วมถ่ายทอดนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในประเทศ เพื่อศึกษาและประเมินสถานการณ์ปัจจุบันนำไปสู่การริเริ่มโครงการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาทั้งหมดด้วย


นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานทปอ. กล่าวว่า การศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา หลายคนอาจหงุดหงิดว่าทำไมมหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถสู่ประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งเรื่องการศึกษาจะประสบความสำเร็จและความล้มเหลว ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของรัฐ เพราะการศึกษาประสบความสำเร็จได้ หมายถึงประเทศไทยประสบความสำเร็จด้วย เพราะมีพลเมืองดี เก่ง ภาคเอกชนได้บุคลากรที่ดีไปทำงาน อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องชื่นชมบริษัท อนันดาฯ ที่ริเริ่มโครงการดีๆ เข้ามาจุดประกายความหวัง ให้แก่มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ ดังนั้น อยากให้ทุกคนมีความหวังกับมหาวิทยาลัยไทย