สกว. เผยแนวทางบริหารงานวิจัย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สกว. เผยแนวทางบริหารงานวิจัย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ชี้ 5 ปัญหางานวิจัย คือ การนำไปใช้, การพัฒนากำลังคน, การกำกับนโยบายของประเทศ, การจัดองค์กรวิจัย และงบประมาณ สกว. แนะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี พัฒนาบุคลากรที่มีพลัง และหยิบงานวิจัยที่ใช่มาใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.61 ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะทำงานติดตามและประเมินผลงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมของแผนบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือชุด “การบริหารจัดการงานวิจัย” ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ช่วงปาฐกถาพิเศษ การวิจัยกับการบริหารจัดการงานวิจัยว่า ปัญหาระบบวิจัยในปัจจุบันมีด้วยกัน 5 ด้าน คือ ปัญหาการนำไปใช้ประโยชน์, ปัญหาการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน, ปัญหาการกำกับนโยบายของประเทศ, ปัญหาการจัดองค์กรของหน่วยงานในระบบวิจัย และปัญหาการจัดงบประมาณและการบริหารงานวิจัย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการลงทุนงานวิจัยต่ำมาก ขณะที่ชิ้นส่วนในด้านอุตสาหกรรมส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แทนที่จะพัฒนางานวิจัย

ผู้บริหารและทีมงานหนังสือ

พัฒนานักวิจัยอย่างไรก็ไม่พอ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนกูล รองผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. กล่าวในช่วงเสวนา “การจัดการงานวิจัยให้มีพลัง” ว่าข้อจำกัดงานวิจัยในปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งคือ มาจากนักวิจัย เราต้องการนักวิจัยเก่งๆ เพิ่มมากขึ้น นักวิจัยที่ทำงานเพื่อสังคมยังมีน้อย เพราะคุณต้องเขียนงานวิจัย และรับใช้สังคมได้ด้วย คอขวดอันที่หนึ่งคือ การพัฒนานักวิจัยอย่างไรก็ไม่พอ ตอนนี้มีสัดส่วนเพียง 17 ต่อ 10,000 คน และมีปัญหาบางสาขา เช่น เศรษฐศาสตร์เกษตร ในไทยยังมีน้อย การสร้างนักวิจัยจึงสำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำให้คนเห็นคุณค่าในเรื่องนั้นยากกว่า

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยพื้นฐานและการพัฒนานักวิจัย รักษาการผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ การสร้างนักวิจัยที่มี Passion นอกจากนั้นต้องมี Soft Skill มองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ในส่วนของด้านการศึกษาน่าจะไม่ใช่เรื่องการสร้างคนอย่างเดียว แต่ต้องสร้างนักวิจัยเข้าไปด้วย เพื่อให้ได้นักวิจัยที่มีคุณภาพ เราจะสามารถสร้างนักวิจัยที่ดีได้ ต้องสามารถทำให้เขาคิดอย่างมีเหตุมีผล และจะนำไปสู่นักวิจัยที่ดีในอนาคต

ปักธงที่ใช่ สู่งานวิจัยที่มีพลัง

รศ.ดร.ปัทมาวดี เสนอแนวทางในการจัดการงานวิจัยให้มีพลังว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ คนให้ทุนต้องมีพลัง และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมและประเทศซึ่งอาจไม่ง่าย รวมถึงต้องอาศัยงานวิจัยที่มีพลัง คือ ต้องมีโจทย์ที่ใช่ ดังนั้น คนที่สนับสนุนเงินทุนวิจัยต้องศึกษาเยอะ ไม่ใช่แค่ให้ทุน เพื่อจะได้ปักหมุดได้ว่างานวิจัยจะไปแก้ปัญหาตรงไหน จะได้แก้ถูกจุด และความสนุกของความมีพลังคือ เครือข่าย ทั้งนี้ การให้ทุนเรากำหนดไว้ 3 เรื่อง คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชนมีความมั่นคงทางการเงิน และการดูแลประชาชน เช่น ระดับครอบครัว การปักธงที่ใช่ จะทำให้เราได้นักวิจัยที่ใช่ และงานวิจัยที่มีพลัง

ด้าน ศ.ดร.สมปอง กล่าวเพิ่มเติมว่า พอได้งานวิจัยแล้ว “บุคลากร” น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้งานวิจัยมีพลัง เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง และเรื่องเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา กระบวนการสร้างคนหรือนักวิจัยที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในแง่ผลกระทบและพลังที่จะเกิดขึ้น ความสำคัญของนักวิจัยระดับประเทศ คือ ต้องเป็นนักวิจัยที่ดี มีพลังในการคิดสร้างสรรค์ มองโจทย์หลายมุมมอง คิดในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น คิดในเชิงผลกระทบมากขึ้น โดย สกว. น่าจะเป็นหน่วยงานเดียวของประเทศ ที่สร้างนักวิจัยระดับสูงตอบโจทย์ทั้งประเทศในทุกระดับ

“ความจริงแล้วสังคมเปลี่ยนเร็วมากกว่านวัตกรรม แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนอย่างไร เรายังต้องการนักวิจัยเก่งๆ และต้องมีทีม การสร้างงานวิจัยโดดๆ ไปไม่รอด และในส่วนของมหาวิทยาลัยต้องเห็นบทบาทตัวเองในการสร้างสังคมนักวิจัยด้วย” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวทิ้งท้าย

ผอ.สกว.

พร้อมกันนี้ สกว. ยังเปิดตัวหนังสือชุด "การบริหารจัดการงานวิจัย สกว." จำนวน 3 เล่ม ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย ของ สกว. ฉบับที่ 2 การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อผลลัพธ์ (และผลกระทบ) และ ฉบับที่ 3 ประสบการณ์ด้านการบริหารงานโครงการวิจัย เพื่อให้เครือข่ายงานวิจัยต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์สร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ในฐานะบรรณาธิการ กล่าวว่า การทบทวนหลักคิดสะท้อนวิธีบริหารงานของ สกว. ทุกยุคสมัย ทำให้เกิดการเรียนรู้ วิธีการบริหารจัดการแบบพลวัตของ สกว. ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด สกว. ยังคงรักษาตำแหน่งหน่วยงานที่มี “นวัตกรรมการบริหารจัดการ” ไว้ได้เป็นอย่างดี การจัดทำเอกสารบันทึกความรู้ กลยุทธ์ และการปรับโครงสร้างรองรับการบริหารจัดการงานวิจัยใหม่ครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งส่วนรวม องค์กร ผู้บริหาร และนักวิจัยทุกระดับ สำหรับเรียนรู้และปรับใช้เพื่อสร้างความสำเร็จต่อไป โดยผู้อ่านสามารถหยิบไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ได้จากตัวอย่างในหนังสือทั้งสามเล่มนี้