ผบ.ทสส.สั่งการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดฯ ทำแผนให้แล้วเสร็จในปี 66

ผบ.ทสส.สั่งการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดฯ ทำแผนให้แล้วเสร็จในปี 66

ผบ.ทสส. สั่งการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ สร้างความรับรู้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 360 ตางรางกิโลเมตร 10 จังหวัดชายแดน เผยอุบลฯ-ศรีสะเกษ-ตราด ยังเหลือพื้นที่เสี่ยงอีกอื้อ

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.61 พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ได้สั่งการและมอบแนวทางปฏิบัติให้กับ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ตามที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา)ทำให้มีพันธกรณีหลักที่ต้องดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตเมื่อปี 2543 ประเทศไทยมีพื้นที่อันตรายจำนวน 2,557 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ชายแดนและได้มีการปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่อันตราย 360 ตารางกิโลเมตร ใน 10 จังหวัด

ทั้งนี้ ผบ.ทสส.กำชับให้หน่วยจะต้องกำหนดแผนการปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 รวมทั้งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตระหนักถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดโดยวิธีเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างเครือข่ายของผู้ตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของทุ่นระเบิด ให้มีการสอดแทรกการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของหน่วย ในการสร้างความร่วมมือเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ขอให้หน่วยฯ ดำเนินการปฏิบัติงานอย่าง รอบคอบ รัดกุม และเป็นไปตามพันธกรณีซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทย ว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นอาวุธที่มีอันตรายต่อมนุษยชาติ สมควรที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันกำจัดให้หมดไปโดยเร็ว ดังแนวคิดที่ว่า " หนึ่งทุ่นระเบิดที่เก็บกู้ได้ สามารถช่วยหนึ่งครอบครัวผู้บริสุทธิ์ให้มีความปลอดภัย " (ONE MINE CLEARED ONE FAMILY SAVED)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่อันตราย 360 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตราด จันทบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก ชุมพร โดย 3อันดับแรกที่ยังมีพื้นที่ไม่ได้เก็บกู้มากที่สุดคือ อุบลราชธานี 101,227,784 ตารางเมตร ศรีสะเกษ 73,383,526 ตารางเมตร ตราด 69,654,131 ตารางเมตร