นายกฯ ย้ำไทยพร้อมหนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน

นายกฯ ย้ำไทยพร้อมหนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน

นายกฯ ย้ำไทยพร้อมส่งเสริมนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน มุ่งขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 61 เวลา 18.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สิงคโปร์ ภายหลังเสร็จสิ้น พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนว่ารัฐบาลของสมาชิกอาเซียนเน้นส่งเสริมนโยบายที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอาเซียน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่นอกจากตั้งเป้าหมายลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าและเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคแล้ว ยังส่งผลให้การจัดอันดับความยากง่ายของการทำธุรกิจในอาเซียนดีขึ้น ซึ่งไทยก็ประสบผลสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ไทยตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อการค้าโลก จึงได้จัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน รวมถึงวางแนวทางความร่วมมือเพื่อเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนา และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงิน การปรับปรุงกฎระเบียบ และการพัฒนาทักษะแรงงานของ SMEs ในด้านดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้อาเซียนกำลังเร่งสรุปผลการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปเพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกให้ภับภาคธุรกิจมากขึ้นด้วย

ในโอกาสที่ไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ไทยสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ และเห็นว่ารัฐและเอกชนอาเซียนจะต้องร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวหน้าต่อไป

เวลา 18.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 แบบเต็มคณะ (Plenary) และการหารือระหว่างอาหารค่ำ (Working Dinner) ที่นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาคมอาเซียน นโยบายของอาเซียนต่อหุ้นส่วนนอกภูมิภาค และการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของอาเซียนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคและของโลก โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนควรให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การสานต่อการดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งและนวัตกรรม ทั้งในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ การบริหารจัดการชายแดน การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการพัฒนาคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนที่ จังหวัดชัยนาท การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเงินและเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลและพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการเงิน (fintech) เพื่อส่งเสริมตลาดวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยของอาเซียน

2. การสร้างความยั่งยืนให้แก่อาเซียน อาเซียนมีแนวโน้มที่จะมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไทยในฐานะผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีพลวัตและมองไปสู่อนาคต และขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรมในไทยในปีหน้า

3. การเสริมสร้างหุ้นส่วนที่มีกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่อาเซียนเป็นแกนกลางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน โดยคำนึงถึงหลัก 3M การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual trust, mutual benefit, and mutual respect) เพื่อนำไปสู่การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค และสนับสนุนให้อาเซียนหาแนวคิดร่วมในเรื่องอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

สำหรับการรักษาเอกภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาความท้าทายในภูมิภาค โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคและความต้องการของประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ ซึ่งไทยสนับสนุนบทบาทของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการส่งผู้แทนอาเซียนไปเยือนเมียนมา เพื่อพิจารณาสถานการณ์และหารือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในการช่วยเมียนมาแก้ไขสถานการณ์ในรัฐยะไข่อย่างสร้างสรรค์

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีย้ำว่าอาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียนอย่างแท้จริง