คุณหมอปัญญาประดิษฐ์ 'ดุ๊ก'ทดลองใช้ตรวจ/แจ้งเตือนภาวะติดเชื้อใน รพ.

คุณหมอปัญญาประดิษฐ์ 'ดุ๊ก'ทดลองใช้ตรวจ/แจ้งเตือนภาวะติดเชื้อใน รพ.

"ดร.อดิสร" นักเทคโนโลยีจากเนคเทค หยิบตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอทางการแพทย์ ผลงานการพัฒนาของ Duke University สหรัฐ ช่วยแจ้งเตือนภาวะโรคติดเชื้อเพื่อให้รักษาและเฝ้าระวังได้ทันเวลา

การแพทย์ในปัจจุบันนอกจากความชำนาญของแพทย์แล้ว ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ภาวะติดเชื้อ (Sepsis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต พบได้บ่อยในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อที่รุนแรง ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้หลังจากร่างกายมีการติดเชื้อที่รุนแรงบางอย่าง เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อนั้น ร่างกายจะหลั่งสารเคมีบางอย่างทำให้เกิดการอักเสบเพื่อทำให้การติดเชื้อน้อยลง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อรุนแรงหรือระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยอ่อนแอจากโรคประจำตัวที่เรื้อรังหรือจากสาเหตุอื่นๆ แล้ว การอักเสบนั้นจะเป็นทั่วร่างกายได้ ซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับบาดเจ็บและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้

ในสหรัฐอเมริกาคนไข้ที่มีภาวะติดเชื้อมีแนวโน้มเสียชีวิต 50% การตรวจโรคและพบการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อที่มีประสิทธิภาพและการรักษาอย่างรวดเร็วจะสามารถช่วยชีวิตได้ ล่าสุดในโรงพยาบาลยุคใหม่จึงนำปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาช่วยแจ้งเตือนเพื่อให้คณะแพทย์สามารถรักษาและเฝ้าระวังอย่างทันเวลา

การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) เพื่อช่วยตรวจวัดอาการและสัญญาณชีพต่างๆ ทำให้คณะพยาบาลและแพทย์สามารถตัดสินใจให้การรักษาอย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญจะตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก็ตาม ทางโรงพยาบาลจะใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยวิเคราะห์และบ่งชี้อาการเริ่มต้นของภาวะติดเชื้อ ซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อขั้นรุนแรง การแพร่กระจายเชื้อไปในกระแสเลือด หรือการติดเชื้อจนทำให้ช็อค จนเป็นสาเหตุของการตายถึง 50% ในสหรัฐอเมริกา

โครงการนำร่องจะเริ่มใช้ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยดุ๊ก รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระบบปัญญาประดิษฐ์นี้จะตรวจจับภาวะติดเชื้อในผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง โรงพยาบาลจะใช้ระบบนี้ในห้องฉุกเฉิน และจะขยายไปทั่วทั้งโรงพยาบาลและห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ความสำคัญของระบบนี้ คือ สามารถตรวจจับสภาวะการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วก่อนที่คนไข้จะต้องเข้าไอซียู

การทำงานของระบบเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อนี้ คือ รวบรวมข้อมูล ผลแล็บ สัญญาณชีพทุกๆ 5 นาที ประวัติทางการแพทย์จากคนไข้กว่า 5 หมื่นคนรวมทั้งข้อมูลกว่า 32 ล้านชิ้น มาทำการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ ซึ่งหมอที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถทำได้ แต่ให้ความเห็นได้ว่า การแจ้งเตือนนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น ทีมแพทย์และพยาบาลต้องช่วยตัดสินใจหลังจากระบบปัญญาประดิษฐ์แจ้งเตือน ว่าคนไข้คนไหนมีสภาวะอย่างไร หรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษในแต่ละช่วงเวลา

ถ้าโครงการนี้เป็นไปด้วยดี จะสามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตมนุษย์ได้อีกมากมาย ทั้งนี้ ต้องประกอบด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่จะตัดสินใจในการรักษาในแต่ละรายด้วย จะเห็นได้ว่าไม่ว่าปัญญาประดิษฐ์จะก้าวหน้าเพียงใด ก็ยังไม่สามารถมาแทนความเชี่ยวชาญของมนุษย์ได้ 100%

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ