ลิขสิทธิ์ลูกเสือ ช่องทางเพิ่มรายได้องค์การค้าฯ

ลิขสิทธิ์ลูกเสือ ช่องทางเพิ่มรายได้องค์การค้าฯ

ผอ.องค์การค้าฯ ฝากสลช.จดลิขสิทธิลูกเสือ และมอบลิขสิทธิให้องค์การค้าฯ ดำเนินการผลิตเครื่องหมายลูกเสือขาย ชี้ขณะนี้ไม่มีลิขสิทธิเครื่องหมายลูกเสือแล้ว ส่งผลใครก็ทำขายได้ ชี้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ขององค์การค้าฯ

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า ลิขสิทธิ์ของเครื่องหมายลูกเสือตอนนี้ไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว เนื่องจากใน พ.ร.บ.ลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2551 ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องลิขสิทธิ์ไว้ และในปัจจุบันใครก็สามารถผลิตเครื่องหมายลูกเสือขายได้ ซึ่งตอนนี้มีผู้ผลิตก็ทำกันอยู่ ทราบว่าทางสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบ พ.ร.บ.ลูกเสือแห่งชาติฉบับใหม่ที่ออกมา เครื่องหมายลูกเสือที่เคยเป็นลิขสิทธิ์ของ สลช.จบไปแล้ว และเท่าที่ทราบสมัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีการมอบหมายให้แก้ไขปัญหาและดำเนินการจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายลูกเสือใหม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่ง สลช.ต้องเป็นผู้ไปจดลิขสิทธิ์ และองค์การค้าฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการหาก สลช.มอบลิขสิทธิ์ให้ และถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ขององค์การค้าฯด้วย

นายวีระกุล กล่าวต่อว่า จากที่ตนตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าองค์การค้าฯ มีแผนที่จะบริหารจัดการธุรกิจทางด้านลูกเสือ และที่ผ่านมามอบลิขสิทธิ์ให้องค์การค้าฯแต่เมื่อหมดสัญญา และตรวจสอบพบว่าไม่มีลิขสิทธิ์จึงทำให้แผนดังกล่าวหยุดชะงัก ซึ่งได้สอบถามผู้บริหารองค์การค้าฯ ว่าในส่วนของเครื่องหมายลูกเสือที่องค์การค้าฯผลิตจะทำอย่างไร ได้รับคำตอบว่าเครื่องหมายลูกเสือที่องค์การค้าผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สังเกตได้ว่าเครื่องหมายลูกเสือที่มีการร้องเรียกว่าไม่ได้คุณภาพ ชำรุดง่าย องค์การค้าฯ ไม่ได้เป็นผู้ผลิต ส่งผลให้ราคาสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่น หากไม่มีลิขสิทธิ์ก็จะส่งผลกระทบต่อองค์การค้าแน่นอน

ด้านนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของเครื่องหมายลูกเสือนั้น ได้มอบหมายให้อนุกรรมการฝ่ายกฏหมายของ สลช. ไปพิจารณาและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.