'หมออุดม' ย้ำผลิตครู 4 อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย

'หมออุดม' ย้ำผลิตครู 4 อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย

"รมช.ศธ." ย้ำราชภัฎผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี ไม่บังคับอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เผยเท่าที่พูดคุยเกินครึ่งเห็นด้วยกลับไปผลิตครู 4 ปี ระบุปรับหลักสูตรเน้นคุณภาพครูเป็นหลัก ขณะที่อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ ชี้เปลี่ยนหลักสูตรโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีงานวิจัยรอง

วันนี้ (18ต.ค.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราโชบายด้านการศึกษา โดยการจัดการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3.มีงานทำ มีอาชีพสุจริต และ4.เป็นพลเมืองดี ทางกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จึงได้น้อมนำพระราโชบายดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยศธ.และมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูที่ใหญ่ของประเทศจึงได้มาทบทวนหลักสูตรการผลิตครูว่าจะสร้างคุณภาพให้แก่ครูอย่างไร เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและสามารถทำให้เยาวชนมีสมรรถนะ4 ด้านดังกล่าว และที่ผ่านมาศธ.และมรภ.ได้ทำเวิร์คช็อปกันหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในกลุ่มมรภ.โดยให้กลับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปีเหมือนเดิม และเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา2562


นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่าสำหรับที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยว่ามรภ.ต้องกลับไปผลิตหลักสูตรครู 4 ปีทั้งหมดหรือไม่ นั้น เท่าที่คุยกันทางมรภ.เกินครึ่งเห็นด้วยที่จะกลับไปผลิตหลักสูตรครู 4 ปี แต่ก็มีบางส่วนจะขอใช้หลักสูตรครู 5 ปี ซึ่งศธ.เข้าใจและไม่บังคับว่ามรภ.ทั้งหมดต้องกลับมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี เพราะอำนาจการปรับหลักสูตรต่างๆอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรการผลิตครู เพื่อต้องการเน้นคุณภาพของครูเป็นหลัก ไม่ได้เน้นระยะเวลา จากนี้มหาวิทยาลัยต้องไปตกลงกันและภายในสัปดาห์หน้าขอให้แจ้งมาว่ามหาวิทยาลัยไหนจะใช้หลักสูตรครู 4 ปี เพื่อจะได้เตรียมการ และดำเนินการให้ทันการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถดำเนินการรับตรงก็ได้ อย่างไรก็ตามจะขอให้ทางคุรุสภาไปกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูเป็นการผลิตในหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปีก็ได้


นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขา วิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการจะเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรครู 4 ปี กับ 5 ปี เป็นการเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุผล หรือข้อมูลงานวิจัยมารองรับ ที่ผ่านมาความพยายามที่จะพัฒนาการสอนมาเป็นหลักสูตร 5 ปีก็เพื่อให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีคุณภาพมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าวิชาชีพอื่นๆในระดับปริญญาตรีด้วยกัน อีกทั้ง เนื้อหาสาระในหลักสูตร 5 ปี มีการพัฒนาเพิ่มเติม ต่างจากเดิมทั้งเรื่องการศึกษาพิเศษ การวิจัย ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียน เพิ่มให้นิสิต นักศึกษาครูได้ฝึกปฏิบัติการสอนจริงในห้องเรียน โรงเรียนเพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็มีการวางรูปแบบเช่น ฝึกต่อเนื่อง 1 ปี หรือ จัดช่วงการฝึกสอน เป็นต้น


"ผมไม่ได้มองประเด็นว่าหลักสูตร 4 ปีหรือ 5 ปี แต่ตั้งคำถามในเชิงวิชาการ กระบวนการบริหารจัดการจากนี้จะทำอย่างไร ถ้าใช้หลักสูตร 4 ปีแล้วหลักสูตรนี้จะเป็นอย่างไร และพัฒนาอย่างไรให้สอดคล้องกับกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งมีการประกาศ ตรงนี้ยังไม่เห็นชัดเจน"นายอรรถพล กล่าว