ดัน 'เมกะโปรเจค' ผูกรัฐบาลหน้า-เอื้อ 'พปชร.'

ดัน 'เมกะโปรเจค' ผูกรัฐบาลหน้า-เอื้อ 'พปชร.'

เสียงเรียกร้องที่ถามถึง "สปิริต" 4 รัฐมนตรี ทั้ง อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม สุวิทย์ เมฆินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หลังเปิดตัว "พรรคพลังประชารัฐ" ยังคงถูกพูดถึง

000 จริงอยู่ที่ทางฝั่งรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุน จะยืนยันเสียงแข็งว่า 4 รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะการ “สวมหมวก2ใบ” ไม่ได้ทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนการประชุมครม.สัญจร หรือการลงพื้นที่ในลักษณะหาเสียง ก็มีเรื่องของ “มารยาท” กำกับอยู่

000 แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น เพราะหากมองแง่ของ “ความสง่างาม” และเพื่อ “ความเป็นธรรม” แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลจะมีสถานะเพียงแค่ “รัฐบาลรักษาการ” แต่เมื่อรัฐมนตรีเปิดตัวเข้าร่วมงานกับพรรคการเมือง ก็ควรจะแสดงสปิริตลาออกเพื่อตัดครหาใช้กลไกรัฐในการหาเสียง โดยเฉพาะการประชุมครม.สัญจร หรือการลงพื้นที่ต่างๆ

000 อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงนั่นคือ “อัดฉีดงบ” ผ่านโครงการต่างๆ โดยการดันโครงการ “เมกะโปรเจค” ที่จะมีผลผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า โดยมีเสียงสะท้อนมาจาก “ปิยะบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่มองว่า ช่วงเวลาสุดท้ายของรัฐบาลไม่ควรก่อตั้งก่อรูปโครงการที่ใช้งบผูกพันกับรัฐบาลถัดไป ซึ่งโดยปกติในรัฐบาลที่ผ่านมา เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเข้ามาตรวจสอบไม่ให้เข้าข่ายดังกล่าว ดังนั้นเมื่อ คสช. ลงเล่นการเมืองก็ควรที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน

000 ประเด็นนี้แม้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่า แม้พรรคอื่นจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ ทุกนโยบายของรัฐบาลเสมอไป

000 แต่การทิ้งทวน “เมกะโปรเจค” ในหลายๆโครงการหนี้ไม่พ้น “เสียงครหา” เกี่ยวกับ “การหว่าน” ที่หวังผลต่อคะแนนความนิยม ซึ่งดูเหมือนว่า จะเป็นการปูทางที่เอื้อต่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.และพรรคพลังประชารัฐในอนาคต