เผยยอดต่ออายุแรงงานประมง ม.83 ยอด 6,082 คน สัญชาติกัมพูชามากสุด

เผยยอดต่ออายุแรงงานประมง ม.83 ยอด 6,082 คน สัญชาติกัมพูชามากสุด

"รมว.แรงงาน" เผยยอดต่ออายุแรงงานต่างด้าวประมงทะเล ม.83 มีจำนวน 6,082 คน พบสัญชาติกัมพูชามากสุด 4,565 คน ขณะที่นายจ้างแจ้งขอนำเข้าแรงงงานแล้ว 13,949 คน ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วจำนวน 1,656 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยได้เปิดต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งจะอนุญาตให้คราวละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม - 30 กันยายน 2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดติดชายทะเล หรือสถานที่ที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดนั้น ปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายระยะเวลาการทำงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 คน คิดเป็นร้อยละ 55.29 เป็นกัมพูชามากที่สุดจำนวน 4,565 คน รองลงมาเป็นเมียนมา 1,397 คน และลาว 120 คน โดยจังหวัดที่มีผลการดำเนินการมากที่สุด 5 อันดับคือ 1. ระยอง 2. ตราด 3. ชลบุรี 4. ปัตตานี 5. สงขลา

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงงานประมงโดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU เป้าหมาย 42,000 คน ซึ่งขณะนี้มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานแล้ว 13,949 คน และได้ดำเนินการจัดส่งคำขออนุญาตนำเข้าแรงงานไปสถานทูตทั้ง 3 ประเทศแล้ว 9,099 คน เป็นกัมพูชา 4,588 คน เมียนมา 4,159 คน ลาว 352 คน โดยได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แล้วจำนวน 1,656 คน

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานประมงตามมาตรา 83 ที่ไม่ได้ต่ออายุการทำงานในครั้งนี้พบว่า บางส่วนเปลี่ยนสถานะเป็น MOU แล้ว และบางส่วนเดินทางกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้จะสามารถนำเข้าแรงงานประมงได้ทันต่อความต้องการ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน หากฝ่าฝืนทำงานมีความผิดในข้อหา ‘ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน’ ต้องระวางโทษปรับ 5,000-50,000 บาท ตรวจพบจับปรับแล้วส่งกลับประเทศทันที ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มีความผิดในข้อหา ‘รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน’ ต้องระวางโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากทำผิดซ้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 50,000-200,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี