ภาพเขียน 'ถวัลย์ ดัชนี' คุณค่าที่ประเมินไม่ได้

ภาพเขียน 'ถวัลย์ ดัชนี' คุณค่าที่ประเมินไม่ได้

ข่าวการสูญหายของภาพเขียนของศิลปินแห่งชาติ อ.ถวัลย์ ดัชนี กว่า 100 ภาพที่ประเมินมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาทนั้น ยังคงอยู่ในความสนใจของคนในวงการศิลปะ

หลายคนอาจรู้จัก อ.ถวัลย์ ดัชนี จาก ‘พิพิธภัณฑ์บ้านดำ’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายและทึ่งกับผลงาน แต่อาจไม่ทราบว่า อ. ถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาเนิ่นนาน ทั้งรางวัลและการแสดงนิทรรศการศิลปะในหลายประเทศทั่วโลก

ด้วยสร้างงานเป็นต้นฉบับของงานตัวเอง หลังจากเคี่ยวกรำตัวเองในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ภายใต้การสอนของ อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านประสบการณ์การศึกษาศิลปะในเนเธอแลนด์ ได้รู้จักศิลปะทั้งของตะวันตกและไทย สุดท้ายก็กลับมาค้นหาแก่นความเป็นไทย ปรัชญาพุทธศาสนา แล้วแสดงออกผ่านฝีแปรงที่เกรี้ยวกราดรุนแรง ดุดันน่ากลัว แต่สื่อถึงความจริงของตัณหา การต่อสู้กันระหว่างกิเลสและปัญญา ความแม่นยำและพลังในการสำแดงศิลปะที่ทำให้การสร้างงานของถวัลย์ ดัชนี เกิดขึ้นในชั่วขณะและสำเร็จลงอย่างรวดเร็วนั้น ก็เป็นทักษะที่ผ่านพัฒนาการจนมีเอกลักษณ์ และยิ่งเพิ่มคุณค่าให้กับงาน

2_3

มูลค่าเป็นตัวเงินของภาพเขียนของ อ.ถวัลย์ ดัชนีนั้นยากที่จะระบุเป็นเพดานตัวเลขแน่ชัด ขึ้นอยู่กับความตกลงใจระหว่างศิลปินและผู้ซื้อเอง แม้นักสะสมงานศิลปะชาวไทยอย่างบุญชัย เบญจรงคกุล จะเคยระบุมูลค่าสูงที่สุดของภาพเขียนของอ.ถวัลย์ที่เขาครอบครองอยู่ที่ราว 20 - 30 ล้านบาท แต่ในต่างประเทศก็เคยมีการซื้องานศิลปะของอ.ถวัลย์ ด้วยการยื่นเช็คเปล่าให้กรอกตัวเลขเองมาแล้ว และเราเองก็เคยได้ยินจากปากศิลปินเองว่า มูลค่างานของเขาอยู่ที่หลักร้อย (ล้าน) แต่กระนั้นมูลค่าเป็นเท่าใดกันแน่ ก็มีแต่ศิลปินและผู้ซื้อเองเท่านั้นที่รู้

ในตลาดการสะสมศิลปะ มูลค่าของงานศิลปะเหมือนการเล่นหุ้นที่มีขึ้นลงไปตามกระแสความนิยม หรือข่าวบางอย่าง แต่คุณค่าที่แท้จริงของศิลปินตัวจริงนั่นแหละที่จะทำให้มูลค่าไม่มีวันตก

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในการวาดภาพบุคคลอันงดงาม รุ่นน้องของอ. ถวัลย์ ดัชนี พูดถึงคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังของภาพเขียนมูลค่าสูงเหล่านั้น

“งานของพี่วัลย์ หรือถวัลย์ ดัชนี เป็นงานที่ศิลปินให้ความสำคัญสูงในแง่การทำงาน คือพี่วัลย์เป็นคนตั้งใจทำงาน และพัฒนางาน เป็นคนที่เป็นแบบอย่าง พี่วัลย์เป็นคนที่ผมยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่าเป็นศิลปินที่แท้จริง ทั้งตัวงานของอ.ถวัลย์ ตัวอ.ถวัลย์ และแม้แต่บ้านที่เขาอยู่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ทั้งชีวิตเขาเป็นศิลปะ ไม่เคยทำงานมั่วๆ ออกมา เป็นศิลปินที่รับผิดชอบในงานตัวเอง งานทุกชิ้นจึงออกมาดี มีคุณค่า เป็นของจริง ฉะนั้น ไม่มีใครสงสัยในความเป็นถวัลย์ เราจึงไม่แปลกใจเลย ทำไมงานจึงเป็นที่ต้องการของคนสะสม ทำให้คุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอด”

3_1

ส่วนเรื่องมูลค่างานศิลปะไทยในตลาดงานศิลปะระดับโลกนั้น ศักดิ์วุฒิให้ความเห็นว่า “ศิลปะเหมือนหุ้น มีวูบวาบ ขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่เข้ามา เป็นเรื่องปกติของทั่วโลก แต่บ้านเราหาอะไรที่จริงๆ ยาก เมื่อเป็นงานศิลปะจริงๆ แบบนี้มูลค่าก็ลงยาก และมูลค่าก็ยังดูจากการแบ่งอีกว่างานของพี่วัลย์ยุคไหน ช่วงไหนที่เขานิยมกัน งานบนกระดาษ งานบนผ้าใบก็ต่างกัน งานที่มีลายเซ็นและงานที่ไม่มีลายเซ็น อันนี้น่าจะเป็นปัญหา เพราะพี่วัลย์เขียนงานเยอะ แต่ชิ้นที่จะขายเขาจึงจะเซ็น ชิ้นที่ไม่มีลายเซ็นน่าจะมีปัญหา อย่างในกรณีที่ถูกขโมยไป ก็จะกลายเป็นงานที่ผิด เพราะไม่มีลายเซ็น ก็ต้องให้ทายาทมาดูว่างานชิ้นนี้ออกไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายไหม เป็นงานที่หายไปนำมาขายในตลาดมืดก็มีปัญหา งาน ที่ไม่มีลายเซ็น เป็นงานแท้นั่นแหละ แต่ต่อไปก็จะเป็นปัญหาเรื่องการยอมรับ ลายเซ็นของศิลปินเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการรับรองว่าถูกต้อง ฉะนั้น งานของพี่วัลย์ชิ้นที่มีลายเซ็น ต่อไปจะมีมูลค่าที่ห่างกว่าชิ้นที่ไม่มีลายเซ็นมาก”

ส่วนเรื่องการขโมยงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงนั้นเกิดขึ้นได้ทั่วโลก สำหรับงานของอ. ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งสร้างงานศิลปะต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังซึ่งเขาตั้งใจเขียนให้เร็ว เพื่อให้จบในระยะสั้น จึงมีชิ้นงานจำนวนมาก บวกกับชื่อเสียงของศิลปินที่มีมูลค่าอยู่แล้ว ก็อาจยั่วใจคนใกล้ชิดซึ่งสามารถนำภาพออกไปได้ เหตุการณ์ลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นในที่สุด

*หมายเหตุ ภาพประกอบมิใช่ภาพผลงานที่ถูกขโมยไป