'ชีวภัณฑ์'....พลิกชีวิต

'ชีวภัณฑ์'....พลิกชีวิต

"กรมส่งเสริมการเกษตร" หนุนทำเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยกพุทธานมสดใช้ชีวภัณฑ์พลิกชีวิต เตือนหมั่นตรวจแปลง เก็บข้อมูลติดตามสถานการณ์-พยากรณ์ศัตรูพืช ลดความเสี่ยง

นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินนโยบายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต เน้นธรรมชาติ คุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งเกษตรกรเองก็มีการจัดการและปลูกพืชแบบผสมผสานมากขึ้น การจัดการแปลงที่ดินลดปัญหาต่าง ๆ ต้องหมั่นตรวจแปลงเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติ การเก็บข้อมูลศัตรูพืช โรค แมลง วัชพืช และศัตรูธรรมชาติ เพื่อประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเลือกแนวทางการจัดการป้องกันได้อย่างทันท่วงที เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชทั่วประเทศเพื่อสำรวจติดตามข้อมูลการระบาดและเพื่อพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืช เพื่อป้องกันและเลือกวิธีการจัดการแปลงอย่างถูกต้องเหมาะสมประกอบด้วย แปลงติดตามสถานการณ์และพยากรณ์ศัตรูพืช และแปลงเฝ้าระวังศัตรูพืชในพื้นที่เสี่ยง ทั่วประเทศในพื้นที่ปลูกพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลตามระเบียบวิธีการที่กำหนดให้เป็นมาตรฐาน

นายไพโรจน์ ขำแกง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เกษตรกรของที่นี่จะปลูกพืชหลากหลาย ทั้งพืชไร่ และพืชผลที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีจำนวนประกอบกับเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอาหารที่กระจายสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ และหากมีการส่งสินค้าออกไปจะต้องมีสิ่งเจือปนและสร้างปัญหาจึงได้ปรับเปลี่ยนทำการเกษตรแบบใช้สารธรรมชาติ พืชสมุนไพร และพยายามปรับทัศนคติเกษตรกรจากการใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบชีวภัณฑ์ ทำให้มีเกษตรกรให้ความสนใจไปศึกษาที่ศูนย์ฯจำนวนมาก มั่นใจว่าในอนาคตการใช้สารชีวภัณฑ์จะมีความเข้มข้นและคนใช้มากขึ้นเช่นกันและต้องการให้ทำการเกษตรแบบรับผิดชอบต่อสังคม

นางปาลิดา นารีนุช เกษตรกรผู้ใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคพืช บ้านยุบอีปูน ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จว.นครราชสีมา กล่าวว่า แต่เดิมทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีและได้เปลี่ยนมาทำแบบปลอดสารเคมีหรือใช้สารชีวภัณฑ์ เนื่องจากลดต้นทุนและได้ผลผลิตดีเช่นกัน อีกทั้งการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชจะใช้แตกต่างกันตามแต่ละชนิด แต่สารชีวภัณฑ์จะใช้ได้ในหลายชนิดและตอบโจทย์การทำการเกษตรได้อย่างดีแม้ในช่วงแรกจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารชีวภัณฑ์กับการเกษตร

สำหรับสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ได้แก่ เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราเมตตาไรเซี่ยม ซึ่งได้ผลดีกับพุทรานมสด มีรสชาติหวานกรอบ ที่ได้เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 2 ไร่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า อย่างละ 1 ไร่ และทำเกษตรผสมผสาน 3 ไร่ โดยปลูกมะเขือเทศ มะเขือเปราะ เสาวรส ถั่วพู ตะไคร้ เลี้ยงไก่และปลา ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 300,000 บาท จากเดิมการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะต้นทุนสูง