ไทยเสนอ 5 ทิศทางผลักดัน BIMSTEC สู่อนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง

ไทยเสนอ 5 ทิศทางผลักดัน  BIMSTEC สู่อนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง

ไทยเสนอ 5 ทิศทางความร่วมมือ เพื่อผลักดัน BIMSTEC สู่อนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 เวลา 16.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม โซลธี คราวน์ พลาซ่า กาฐมาณฑุ (Soaltee Crowne Plaza Kathmandu) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 พร้อมผู้นำ BIMSTEC ได้แก่ ขัทคะ ปราสาท ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เชริง วังชุก หัวหน้าคณะผู้บริหารชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน นเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย วิน มินต์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และไมตรี ปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ BIMSTEC กำลังเป็นที่สนใจของโลก โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อม มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตามนโยบาย Look West ของไทย และ Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้และนโบยาย Act East ของอินเดีย ศักยภาพของ BIMSTEC ประกอบด้วยประชากรวัยทำงานกว่า 1.6 พันล้านคน และ GDP รวมกันกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยในฐานะประเทศผู้ริเริ่มก่อตั้ง BIMSTEC และมีบทบาทที่แข็งขันในเวทีนี้มาโดยตลอด 21 ปีที่ผ่านมา ยืนยันที่จะขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศเอเชียใต้เข้าด้วยกัน (connect the connectivities)

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ (Mutual Trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) และผลประโยชน์ที่ร่วมกัน (Mutual Benefit) เพื่อมุ่งสู่ภูมิภาคอ่าว เบงกอลที่มีสันติภาพ เจริญรุ่งเรือง และยั่งยืน โดยเสนอข้อคิดเห็น 5 ประเด็น ดังนี้

1. การจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือ 14 สาขา ไทยเสนอความร่วมมือ ดังนี้ ความเชื่อมโยง/ การค้าการลงทุน /การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน/ ความมั่นคง และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยได้ให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาให้มีความยั่งยืน ต่อเนื่อง และมีการติดตามผล เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้

2. “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) นั้น เป็นนโยบายหลักภายในประเทศ โดยในกรอบของ BIMSTEC นั้น ต้องมีทั้งความเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ด้านความเชื่อมโยงทางบก ทั้งความเชื่อมโยงทางถนน โครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบ ความร่วมมือด้านโครงการพัฒนาด้านพลังงาน และดิจิทัล ไทยจะเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของ BIMSTEC (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) ซึ่งโครงการถนนสามฝ่าย (Trilateral Highway) ระหว่างอินเดีย – เมียนมา – ไทย สามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor) ของกลุ่มประเทศ ACMECS อย่างไร้รอยต่อ การลงนามในบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้กรอบ BIMSTEC ก่อให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความมั่นคงพลังงานในอนุภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยและเมียนมาในฐานะที่มีที่ตั้งเชื่อมอนุภูมิภาค BIMSTEC และ ACMECS จะเป็นสะพานเชื่อมอำนวยความสะดวกความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองอนุภูมิภาคนี้

ด้านความเชื่อมโยงทางน้ำ เป็นการขนส่งที่ต้นทุนต่ำที่สุด จึงเห็นควรเร่งกระบวนการเพื่อให้ BIMSTEC สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่งภายใต้กรอบ BIMSTEC (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2019 ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศในอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทาง Ports – Connectivity รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของจังหวัดระนองทางตะวันตกของไทยกับท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะสามารถขยายสู่ท่าเรือกัลกัตตา เจนไน วิสาขปัตนัม ของอินเดีย และจนถึงท่าเรือฮัมบันทอตาของศรีลังกาในที่สุด ไทยในฐานะประเทศผู้ผลักดันนโยบาย และมีประสบกาณ์ที่จะเชื่อมโครงการ “ความเชื่อมโยง” หรือ “Connect the Connectivities” พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ประเทศสมาชิกเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

3. ด้านการค้าการลงทุน หวังให้ BIMSTEC เป็นเขตการค้าเสรีที่สมบูรณ์ โดยเร่งลงนามความตกลงคั่งค้างที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 6 ฉบับ ในลักษณะ Early Harvest Free Trade Agreement หรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ทำได้ง่าย (Low Hanging Fruits) เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของคน พลังงาน สินค้าและบริการ ทำให้อนุภูมิภาคเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและอุปทานของโลก win – win สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดการแข่งขันระหว่างกัน ทำให้แข็งแกร่งและมีอำนาจต่อรองกับนอกภูมิภาคมากขึ้น

4. BIMSTEC มีความโดดเด่นเรื่อง “คน” คือหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ซึ่งไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (People to People Contact) เป็นหัวใจของทุกเสาความร่วมมือ เพื่อให้ BIMSTEC บรรลุเป้าหมาย “การเป็นประชาคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ TICA และกรมประมงได้ร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมด้านการเพาะเลี้ยงประมงน้ำจืดให้กับผู้แทนจากสมาชิก BIMSTEC เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของสมาชิก รวมทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม การประมง การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถสตรี ด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยว

5. ด้านความมั่นคง โดยการผลักดันอย่างแข็งขันของอินเดีย ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และความสุขของประชาชน หวังว่าจะสามารถลงนามในอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านอาญา (Mutual Legal Assistance in Criminal Matters - MLAT) ซึ่งไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการประชุมประจำปีของหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงประเทศสมาชิก (BIMSTEC National Security Chief) ครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2562

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันไทยพร้อมจะเป็นจักรกลที่จะทำให้ BIMSTEC ขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยนำประสบการณ์และนโยบายด้านการพัฒนาของไทย คือ นโยบาย Thailand 4.0 มาใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่อนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และแนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการสนับสนุนธุรกิจและวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งถือเป็นฐานการผลิตของโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นด้านการวิจัยและการพัฒนา พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและทันกับพลวัตจากภายนอก เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่เน้นคนและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่งคง และควบคู่ไปกับการเชื่อมไทยเข้ากับประชาคมโลก