เร่งพร่องน้ำ 5 เขื่อน รับร่องฝนอีกระลอก

เร่งพร่องน้ำ 5 เขื่อน รับร่องฝนอีกระลอก

"ศูนย์เฉพาะกิจฯ" ระบุเทศบาลเมืองเพชรบุรีไม่มีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว สั่งเร่งพร่องน้ำ 5 เขื่อน รับร่องฝนอีกระลอก

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ​นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 5.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ พบว่าเขื่อนแก่งกระจาน ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงที่ 754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 98 ซม. ลดลง 1 ซม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 12.69 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.02 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 12.96 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.35 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มลดลง โดยบริเวณ อ.แก่งกระจาน ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 93 ซม. อ.เมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 33 ซม. ส่งผลให้พื้นที่น้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีลดลง และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ปกติในเร็ว ๆ นี้ โดยล่าสุดในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีไม่มีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว

ขณะที่เขื่อนน้ำอูน ปริมาณน้ำ 570 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 110% ปริมาณน้ำไหลเข้า 11.43 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.01 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำไหลออก 8.85 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.73 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จากการเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน จากการประสานงานกับกรมชลประทานแจ้งว่าในวันพรุ่งนี้ (28 ส.ค. 61) จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านทางกาลักน้ำอีก 1 ล้าน ลบ.ม.

​สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ ปริมาณน้ำ 8,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93% ปริมาณน้ำไหลเข้า 97.69 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 14.66 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.28 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.01 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันน้ำยังไม่สูงกว่าตลิ่ง ขณะที่เขื่อนขุนด่านปราการชล ปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.09 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.06 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.06 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.58 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 46 ซม. ลดลง 11 ซม. ส่วนเขื่อนปราณบุรี ปริมาณน้ำ 319 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 82% มีปริมาณน้ำไหลเข้า 9.93 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 1.91 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 10.22 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1 ล้าน ลบ.ม.

นายสำเริง กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 27-30 ส.ค. 61 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาร์ ลาวและเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และยังคงพาดผ่านในบริเวณแนวเดิมช่วงวันที่ 31 ส.ค. – 1 ก.ย. 61 ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนต่อเนื่อง และฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขณะนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 28 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และภาคใต้ จ.ระนอง ซึ่งปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ สูงสุดที่ จ.เชียงราย 108.5 มม. แม่ฮ่องสอน 77.5 มม. น่าน 56.0 มม. ลำปาง 43.5 มม. เชียงใหม่ 42.5 มม. แพร่ 40.5 มม. สุโขทัย 39.8 มม. ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย 63.0 มม. และอุบลราชธานี 40.0 มม. ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ 69.0 มม. ลพบุรี 64.0 มม. เพชรบูรณ์ 53.2 มม. และภาคใต้ จ.ระนอง 63.5 มม.