ทบทวน 6 ด้านแผนปฎิรูปด้านการศึกษา คาดสรุปชัดเจน เสนอรัฐบาล 4 ก.ย.นี้

ทบทวน 6 ด้านแผนปฎิรูปด้านการศึกษา คาดสรุปชัดเจน เสนอรัฐบาล 4 ก.ย.นี้

กอปศ. เล็งเปลี่ยนปรับปรุงโครงสร้างศธ. เป็นการปฎิรูปบทบาท หน้าที่ อำนาจของศธ. ทบทวน 6 ประเด็นแผนการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ชี้เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงส.ค. ก่อนสรุปเสนอต่อรัฐบาลภายใน 4 ก.ย.61 ฝากผู้สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นแผนดังกล่าว

วานนี้ (20 ส.ค.61) นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) ว่าที่ประชุม ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การบริหารจัดการเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 2.การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3.การสร้างระบบผลิต คัดกรอง และพัฒนาครู 4.การปรับปรุงการเรียนการสอน 5.การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรองรับกลไกการปฎิรูปการเรียนการสอน การให้อิสระสถานศึกษาบริหารจัดการ การจัดทำฐานข้อมูลระบบบิ๊กดาต้า และ 6.การจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ..ที่จะต้องผุดกฎหมายรองรับอีก 30 ฉบับ แต่การจัดทำกฎหมายลูกรองรับพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนั้น ซึ่งมีความคิดเห็นจากกรรมการหลายท่าน อยากให้เปลี่ยนการปรับปรุงโครงสร้างศธ.เป็นการใช้คำว่าปฎิรูปบทบาท หน้าที่ และอำนาจ ของหน่วยงานศธ. เนื่องจากน่าจะสอดคล้องมากกว่าการใช้คำว่าโครงสร้าง และมีการหารือรายละเอียดในเรื่องการทำงาน ร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ให้แล้วเสร็จ รวมถึงการดำเนินการโรงเรียนที่มีความอิสระเป็นนวัตกรรมการศึกษา โดยต้องมีกฎกระทรวงและการสนับสนุนเงินอุดหนุนโรงเรียน

นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่าได้มีการหารือถึงแนวทางในการเร่งมาตรการระยะสั้น ดิจิตอลแพลตฟอร์ม ระบบสารสนเทศจัดการศึกษา โดยต้องพยายามทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ภายในกลางปี 2562 อีกทั้งการผลิตคัดกรองครู การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป โดยระยะเริ่มต้นจะดำเนินการในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 2 จัดทำข้อเสนอ กฎบัญญัติ ระเบียบต่างๆของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ฉบับใหม่ เพื่อให้กรรมการทำงานได้ทันที นอกจากนั้น ได้มีการรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการนำร่างแผนการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งได้มีการประกาศขึ้นเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่สนใจ ขณะนี้มีผู้เข้ามาศึกษาแผนปฎิรูปดังกล่าว 900 กว่าคน และมีผู้แสดงความคิดเห็นประมาณ 24-25 คน จึงอยากให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมากขึ้น โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจะสิ้นสุดเดือนส.ค.61 นี้ และจะมีการประชุมและสรุปอีกครั้ง ก่อนเสนอต่อรัฐบาลภายในวันที่ 4 ก.ย.61

"การปฎิรูปโครงสร้างศธ.ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น หน่วยงานแรกที่จะปรับเปลี่ยน คือสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่จะทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากมีโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีความใกล้เคียง และดูเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่ควรมีการตั้งหน่วยงานใหม่ที่ไม่จำเป็น แต่จะมีการปรับบทบาทหน้าที่ให้สามารถทำงานใหม่ได้ดีขึ้น ส่วนหน่วยงาน" นพ.จิรุตม์ กล่าว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่าแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษาได้วางเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงระยะเวลาที่ทำงานของกอปศ. ถึงวันที่ 30 พ.ค.62 ระยะเวลา 5 ปี และระยะเวลา 10 ปี ดังนั้น การปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา จะสมบูรณ์ 100% ภายใน 10 ปี ซึ่งใน 6 ประเด็นสำคัญตามแผนดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกต และต้องดำเนินการตรวจสอบให้มั่นใจในหลายเรื่อง อาทิ การให้ครูได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม กลไกสร้างระบบคุณธรรมการบริหารงานบุคคล อนุบาล 3 ขวบได้เรียนฟรีจริง เด็กเรียนม.ปลาย และปวช.หรือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องได้เรียนอย่างมีคุณภาพตามความถนัดของตนเอง สำหรับเรื่องร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ต้องมีกลไกที่ทำให้ระบบเกิดรูปธรรมในการทำงาน มีการตรวจสอบการดำเนินการ ส่วนการทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ต้องให้มีโครงสร้างของโรงเรียน ต้องมีกฎกระทรวงที่ใช้บังคับได้ และสถาบันหลักสูตร ที่จะเป็นเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงวิชาการ ระบบการศึกษาของไทย โดยหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องหลักสูตร แต่ต้องทำหน้าที่วิจัย พัฒนา จัดทำหลักสูตร สื่อการสอน ระบบการประเมินผลให้ครบวงจรร่วมด้วย ส่วนโครงสร้างที่เหลือ มีบทเฉพาะกาลให้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ปรับโครงสร้างของศธ. ให้สอดคล้องกับแผนปฎิรูป โดยเป็นการเอาระบบนำ กลไก และโครงสร้างต่างๆ ดำเนินการตาม

ทั้งนี้ โครงสร้างมี 4 กลุ่ม กลุ่มดูแลเรื่องนโยบาย หน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแล หน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุน และหน่วยงานทำหน้าที่ปฎิบัติ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานนโยบาย อย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และหน่วยงานปฎิบัติ คือโรงเรียน มีความชัดเจนมากกว่า 90% ส่วนหน่วยงานอื่นๆ กำลังเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนมากขึ้น