CHAYO - ซื้อเมื่ออ่อนตัว

CHAYO - ซื้อเมื่ออ่อนตัว

คงคาดการณ์กำไรปี 61 เติบโตราว 29%YoY จากการรับรู้รายได้กองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมีหลักประกันใน 2H61

ประเด็นสำคัญในการลงทุน :

  • กำไรสุทธิ 2Q61 เติบโตโดดเด่น 48%YoY จากรายได้เงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เติบโต 52%YoY : รายงานกำไรสุทธิ 2Q61 ที่ 24 ลบ. เติบโต48%YoY มาจากรายได้จากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เติบโตอย่างโดดเด่นราว 52% สู่ 62 ลบ. ส่งผลให้รายได้รวมเติบโต 36%YoY สู่ 70 ลบ. การที่ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าการเติบโตของรายได้ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 70% จาก 66% ใน 2Q60 แม้ว่าใน 2Q61 บริษัทได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 8 ลบ. จากที่ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนทำให้ SG&A/Revenue เพิ่มขึ้นสู่ 25% จากใน 2Q60 ที่ 22% แต่ยังมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสู่ 34% จากใน 2Q60 ที่ 31% กำไรสุทธิ 1H61 ที่ 38 ลบ.คิดเป็น 51% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีที่ 75 ลบ. +29%YoY และเรายังคงประมาณการเดิม
  • คงคาดการณ์กำไรปี 61 เติบโตราว 29%YoY จากการรับรู้รายได้กองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมีหลักประกันใน 2H61 : ปลาย 2Q61 บริษัทมีเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพมูลค่าราว 343 ลบ. แบ่งเป็นกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพชนิดมีหลักประกันมูลค่าราว 212 ลบ. เพิ่มขึ้น 7%QoQ โดยมีการประมูลเพิ่มเข้ามาในช่วงเดือนมิ.ย. และกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพชนิดไม่มีหลักประกันมูลค่าราว 132 ลบ. เพิ่มขึ้น 55%QoQ เพิ่มขึ้นหลังจากซื้อพอร์ทมาจาก UOB ในช่วง 2Q61 ซึ่งจะช่วยหนุนให้ประมาณการรายได้ปี 61 เติบโตที่ 3%YoY สู่ 213 ลบ. และกำไรสุทธิเติบโตที่ 29%YoY สู่ 75 ลบ. สมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นสู่ 68% จาก 64% ในปี 60 และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสู่ 35% จาก 23% ในปี 60 เนื่องจากมีรายได้จากสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น  ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายพนักงานในการโทรติดตามแต่มีค่าใช้จ่ายเฉพาะในกระบวนการฟ้องร้องบังคับหนี้
  • ปรับแผนสู่ธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยทดแทนรายได้ธุรกิจ Call Center ที่ไม่ต่อเนื่อง : บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อ Nano Finance และสินเชื่อ Pico Finance โดยถือหุ้นในสัดส่วน 70% มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 50 ลบ.ซึ่งคาดว่าจะมาทดแทนรายได้ในส่วนของธุรกิจ Call Center ที่มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในกลุ่มพนักงานโรงงาน พนักงานบริษัทเอกชนที่ปกติเสียดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบสูงถึง
    60-120% ต่อปี ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 36% ต่อปี คาดจะเริ่มดำเนินงานใน 4Q61 เรามองว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลสนับสนุนให้เพิ่มสัดส่วนจำนวนลูกหนี้ในระบบให้มากขึ้น โดยยอด Outstanding Loans ของ Nano Finance ทั้งประเทศ ณ เดือน มิ.ย.61 มีมูลค่ารวม 12,266 ลบ.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 19%MoM ตั้งแต่ ม.ค.61 และเพิ่มขึ้น 300%YoY (ที่มา : ธปท.)
  • คงคำแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ราคาเหมาะสม 4 บาท : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสมโดยใช้วิธี Prospect PER ที่ 30 เท่าซึ่งสูงกว่าคู่แข่งที่ 26 เท่า จากการเติบโตที่โดดเด่นกว่า โดยประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 61 ราว 0.13 บาทได้ราคาเหมาะสม 4 บาท เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นมาสูงกว่าราคาเหมาะสมแล้ว แต่บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว จึงคงคำแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”

ปัจจัยสนับสนุน

         1.ธุรกิจให้สินเชื่อสามารถสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องมากกว่าธุรกิจ Call Center

ความเสี่ยง

         1. มีการเก็บหนี้ได้น้อยกว่าที่คาด

         2. ไม่สามารถขายหลักประกันได้ตามที่คาดไว้