คอม7ผุดเอาท์เล็ทชิงค้าปลีกไอที

คอม7ผุดเอาท์เล็ทชิงค้าปลีกไอที

เปิดตัวแลนมาร์คไอทีแห่งใหม่ “บานาน่า เมกา สโตร์” ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย บนเนื้อที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ที่ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ วางเป็นไลฟ์สไตล์ชอปปิงแห่งใหม่ของคนไอที คาดทำเงินได้เดือนละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท

นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีรายใหญ่ กล่าวว่า เปิดตัวเอาท์เล็ทสินค้าไอทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทยชื่อว่า “บานาน่า เมกา สโตร์(BaNANA Mega Store)” บนเนื้อที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ที่ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์

ทั้งนี้ วางตำแหน่งเป็นแลนมาร์คสำหรับไลฟ์สไตล์ชอปปิงไอที ที่รวบรวมสินค้าหลากหลายไว้ในที่เดียว ครอบคลุมสมาร์ทโฟน, โน้ตบุ๊ค, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำโพง, หูฟัง, สายชาร์จ ฯลฯ โดยแบ่งเป็น 3 โซนหลักประกอบด้วย 1. ร้านบานาน่า จำหน่ายสินค้ารุ่นปัจจุบัน 2.บานาน่า เอาท์เล็ท จำหน่ายสินค้าตกรุ่น สินค้าตัวโชว์ และสินค้าลดราคาล้างสต็อก ส่วนลดสูงสุด 80% พร้อมจะมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ขณะที่ โซน 3.บานาน่า ชอปปิง(Banana Shopping) ออนไลน์สโตร์ที่ลูกค้าสามารถคลิกสั่งซื้อและเลือกรับสินค้าได้ทันทีที่ร้าน หรือที่บ้านภายใน 3 ชั่วโมง เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนต.ค.นี้ มากกว่านั้นยังเป็นแหล่งรวมสินค้าลดราคาจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีชั้นนำในไทย เช่น วีเอสทีอีซีเอส, ซินเน็ค, มหาจักร นำเสนอรายการสินค้ากว่า 1 หมื่นรายการ ลงสินค้าใหม่ทุกวันพุธ หวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าในราคาถูกพิเศษ เพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าโดยสามารถเลือกซื้อได้ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องรอซื้อตามงานลดล้างสต็อก

เอาท์เล็ทดังกล่าวใช้งบการลงทุนไป 20 ล้านบาท สาเหตุที่เลือกศูนย์การค้าซีคอนสแควร์เป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ กลุ่มลูกค้ามีความหลากหลาย ไม่กลางหรือบนมากจนเกินไป ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำรายได้ให้เดือนละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท และหากผลตอบรับออกมาดีจะพิจารณาเปิดสาขาถัดไปที่มุมเมืองอื่นๆ เบื้องต้นจะเริ่มภายในพื้นที่กทม.ก่อน รวมคาดว่าจะมี 4-5 สาขา

“เดิมเราจัดเทศกาลลดล้างสต็อกที่คลังสินค้าปีละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งทำยอดขายได้ 20-30 ล้านบาท เลยคิดว่าหากจัดเพียงแค่นั้นถือเป็นการเสียโอกาส เพราะสินค้าคงคลัง สินค้าตกรุ่น และอื่นๆ ยังคงมีอยู่ ทั้งแต่ละปีต้องเสียค่าเสื่อมสินค้า 70-100 ล้านบาท ดังนั้นถ้าทำได้ดีจะทำให้ส่วนที่เสียไปกลายเป็นกำไรเข้ามาแทน”

ล่าสุดยังได้จัดโปรโมชั่น “เก่าแลกใหม่” สำหรับลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คเครื่องเก่าสามารถนำมาแลกเป็นส่วนลดเครื่องใหม่ได้ และโปรโมชั่นพิเศษช่วงเปิดตัวระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม รับส่วนลดออนท็อปอีก 5% สำหรับสินค้าอุปกรณ์เสริมทุกชิ้น ขณะที่โน้ตบุ๊คที่นำมาจัดโปรโมชั่นลดราคารับประกันสูงสุด 1 ปี

อย่างไรก็ดี ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2 มีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 6,741.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.7% กําไรขั้นต้น 890.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.6% กําไรส่วนของบริษัทใหญ่ 216.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งปีแรกทำรายได้ได้ราว 1.29 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าทำได้ 9,700 ล้านบาท หรือเติบโต 33% เป็นผลมาจากการสามารถเดินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดหาสินค้าให้มีเพียงพอต่อการขาย สามารถบริหารการวางจำหน่ายสินค้า(Product Mix) ได้ตรงกับความต้องการ สวนทางกับตลาดรวมไอทีไทยที่เติบโตไม่เกิน 10%

นอกจากนี้ มีพันธมิตรการค้าที่แข็งแกร่ง กลยุทธ์ในการหาช่องทางการจําหน่าย ทั้งในส่วนของบีทูบี ช่องทางออนไลน์ รวมถึงการขายเครื่องพ่วงซิม และธุรกิจให้บริการหลังการขายอย่าง iCare ที่มีการขยายสาขาและมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น สิ้นปี 2561 จะมีสาขารวมกันมากกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านสาขาจากธุรกิจแฟรนไชส์ 100 สาขา ร้านสาขาภายใต้การบริหารของบริษัทเอง 500 สาขา จากสิ้นปี 2560 ที่มี 434 สาขา

“ผมมั่นใจว่าภาพรวมธุรกิจทั้งปี 2561 จะสามารถทำนิวไฮ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่ทำได้ 22,584 ล้านบาท เป็นไปได้ว่าจะทำได้ถึง 20%”

สำหรับภาพรวมธุรกิจไอทีประเทศไทยยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ ขณะเดียวกันการที่มีรุ่นใหม่ออกมาต่อเนื่องช่วยเพิ่มความสนใจและกระตุ้นกำลังซื้อ นอกจากกลุ่มโมบายตลาดพีซีก็ยังมีโอกาสขยายตัวจากกระแสความนิยมการเล่นเกม เบื้องต้นทั้งปีนี้และระยะสั้น 2-3 ปีข้างหน้า ยังเป็นตลาดที่เติบโตเพราะสัดส่วนการเข้าถึงยังน้อย มีช่องวางทางการตลาดที่สามารถขยายไปต่อได้อีกหลายพื้นที่