วิกฤติค่าเงินตุรกีกดดันดอลลาร์ผันผวนเทียบสกุลเงินหลัก

วิกฤติค่าเงินตุรกีกดดันดอลลาร์ผันผวนเทียบสกุลเงินหลัก

ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 ส.ค.) ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกี

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.58 เยน จากระดับ 111.20 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9927 ฟรังก์ จากระดับ 0.9945 ฟรังก์  ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1338 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2692 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2711 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7237 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7234 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของค่าเงินตุรกีและผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและตุรกี หลังจากรัฐบาลตุรกีประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงรถยนต์โดยสาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีเหล็กนำเข้าจากตุรกีจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

ทั้งนี้ นายเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ลงนามในคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีรถยนต์จากสหรัฐเป็น 120% และขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 140% ขณะที่ขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 60% นอกจากนี้ ตุรกียังได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง ข้าว และถ่านหินจากสหรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.ค. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนมิ.ย.

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.9% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในไตรมาส 1

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน