ธปท.เตรียมออกแนวปฎิบัติป้องภัยไซเบอร์ วางแนวทางให้แบงก์อุดช่องโหว่

ธปท.เตรียมออกแนวปฎิบัติป้องภัยไซเบอร์ วางแนวทางให้แบงก์อุดช่องโหว่

ธปท.เร่งออกแนวปฎิบัติด้านภัยไซเบอร์ วางแนวทางให้แบงก์อุดช่องโหว่ -ตรวจสอบภัยจากเทคโนโลยี คาดออกได้เร็วสุดเดือนนี้ พร้อมประสานงานแบงก์ทุกแห่งตรวจสอบป้องกันภัยไซเบอร์เข้มข้น

นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือนส.ค. หรือช้าสุด เดือนก.ย. ธปท.เตรียมออกแนวปฎิบัติ(guideline)ฉบับใหม่ เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ เพื่อให้แบงก์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันภัยไซเบอร์ และใช้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบ หรือใช้สำรวจแบงก์ในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันเกิดเกิดภัยจากไซเบอร์ในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่สถาบันการเงินถูกแฮกข้อมูลลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา ในฐานะที่ธปท.เป็นเรกูเรเตอร์หรือฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ได้มีการสั่งการให้สถาบันการเงินต่างๆทุกแห่ง เข้าไปตรวจสอบระบบแบงก์ และปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์แล้ว และธปท.ยังมีการทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกัน และหาแนวทางใหม่ในการป้องกันภัยเหล่านี้มากขึ้นเช่น การร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) องค์กรระบบเนชั่นนอล หน่วยงานต่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้ายการดูแลด้านภัยไซเบอร์ เพื่อรับมือและติดตามปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินในอนาคตอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจุบัน ภัยทางการเงิน เป็นสิ่งที่ธปท.ต้องเร่งเข้าไปดูแลความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และตื่นตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภายใต้การป้องกันภัยคุกคามที่จะมาสู่สถาบันการเงิน ธปท.ก็ต้องทำหน้าที่ สนับสนุน และไม่ปิดกั้น ที่จะทำให้แบงก์เกิดอินโนเวชั่น หรือนวัตกรรมใหม่ๆออกมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องด้วย ดังนั้นหน้าที่ของธปท.คือต้องบาลานซ์สองด้านให้เกิดความสมดุลมากที่สุด

"เรื่องความเสี่ยง ภัยไซเบอร์ต่างๆเป็นเรื่องที่ธปท.รอไม่ได้ หรือค่อยๆกำกับค่อยๆดูแลไม่ได้ เราต้องตามเทคโนโลยี ที่เข้ามาให้ทัน วิ่งตามความเสี่ยงที่มาจากเทคโนโลยีให้เร็ว หรือวิ่งตามระบบแบงก์ล่ม ต่างๆ เหล่านี้รวมถึงภัยไซเบอร์เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นทุกวัน อย่างภัยไซเบอร์ แพร่กระจายเกิดขึ้นรวดเร็ว และสถาบันการเงินก็เป็น1ใน 3 เป้าหมาย ที่พวกแฮกเกอร์จะเข้ามาเจาะข้อมูลมากที่สุด"