'พลังงาน' ยันไม่มีนโยบายเพิ่มโควตาขยะผลิตไฟ

'พลังงาน' ยันไม่มีนโยบายเพิ่มโควตาขยะผลิตไฟ

“ศิริ” มอบพพ. ตอบปฏิเสธ ก.มหมาดไทย ขอเพิ่มโควตาขยะผลิตไฟอีก 400 เมกะวัตต์ หวั่นกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ด้าน กกพ. ขีดเส้น 30 ก.ย.นี้ ตัดสิทธิโครงการ Quick Win หากไม่ยืนข้อเสนอขายไฟ ยันโควตาผลิตไฟจากขยะยังยึดตามแผนเดิม 550 เมกะวัตต์ ในปี2579

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี) ไปดำเนินการตอบปฏิเสธกระทรวงมหาดไทย ที่ยื่นเรื่องมายังกระทรวงพลังงานเพื่อขอเพิ่มสุดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะในแผนเออีดีพี อีกราว 400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน แผนเออีดีพี 2015 กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากขยะ อยู่ที่ 550 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 แบ่งเป็นขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์

โดยนายศิริ มองว่า การเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากขยะในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า หากยังมีการกำหนดอัตรารับซื้อตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทารีฟ) หรือ FIT ในอัตราปัจจุบันกว่า 5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศยังเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟ้ฟาไปอีก 5 ปี อีกทั้ง นายศิริ ต้องการประเมินผลจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Quick Win Projects) จำนวน 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD)ในปี2564 ก่อน จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน รับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติมในขณะนี้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ Quick Win จำนวน 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หากผู้ประกอบการรายใดไม่มายื่นคำร้องฯตามที่กำหนดจะถูกตัดสินทันที โดยจะไม่พิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีกรอบ เพราะเคยขยายเวลามาแล้วหนึ่งครั้งจากเดิมกำหนดภายในวันที่ 31 มี.ค.2561 ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการทยอยมายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าบ้างแล้ว

“ตอนนี้ ผู้ประกอบการรายใดพร้อมแล้วก็สามารถทยอยมายื่นคำข้อฯได้ตลอด ซึ่ง กกพ.ไม่ได้ติดขัดอะไร เพียงแค่ต้องการเห็นเอกสารที่มีการลงนามรับรองจากกระทรวงมหาดไทยว่าผ่านขั้นตอนของกฎหมายเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนฯเท่านั้น” นายวีระพล กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Quick Win สำนักงาน กกพ.ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2560-30 ก.ย.2561 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกภายในวันที่ 31 ต.ค.2561 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการQuick Win จำนวน 8 พื้นที่ ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลตำบลนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ,2.อบจ.นนทบุรี (2)-(3),3.อบจ.ระยอง ,4.อบจ.หนองคาย,5.เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่,6.เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก,7.เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี และ 8.ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช จ.กรุงเทพมหานคร

นายวีระพล กล่าวว่า ปัจจุบัน การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมีสัญญาอยู่แล้ว 399 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรมได้รับคัดเลือกแล้ว 37 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 361 เมกะวัตต์ ซึ่งหากรวมกับ โครงการ Quick Win อีก 77.9 เมกะวัตต์ จะทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะใกล้เคียงเป้าหมายในแผนเออีดีพี 2015 ซึ่งหลังจากนี้จะยังไม่มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติม จนกว่าการจัดทำแผนเออีดีพี ฉบับใหม่จะแล้วเสร็จ ภายหลังจากการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่(พีดีพี 2018) จะแล้วเสร็จ หรือ คาดว่าจะเห็นกรอบชัดเจนขึ้นในเดือน ก.ย.นี้

ส่วนกรณีที่มีหลายหน่วยงานเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลเพื่อบริหารจัดการขยะด้วยการนำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้น เข้าใจว่าเป็นการดำเนินการของหน่วยงานเองเพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับรอภาครัฐประกาศให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในรอบต่อไปในอนาคต