กรมชลฯ เล็งสร้างอ่างฯห้วยแม่ละเมา

กรมชลฯ เล็งสร้างอ่างฯห้วยแม่ละเมา

กรมชลฯ เล็งสร้างอ่างฯห้วยแม่ละเมา เพิ่มน้ำต้นทุนหนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก

กรมชลประทานเร่งศึกษาความเหมาะสมพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก นำร่องพัฒนาลุ่มน้ำแม่ละเมา เล็งสร้างอ่างงเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง ขนาดความจุ 85 ล้านลบ.ม. รองรับการขยายตัวของการใช้น้ำทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภคอย่างก้าวกระโดด


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตากที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในลุ่มน้ำแม่ละเมาซึ่งเป็นสาขาใหญ่ของแม่น้ำเมย เบื้องต้นจำนวน 3 แห่งคือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านใหม่พัฒนา โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กึ๊ดหลวงตอนบน รวมกันจะสามารถเก็บน้ำได้รวมกันบมากกว่า 170 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านลำห้วยแม่ละเมา คือ 314 ล้านลบ.ม.ต่อปี


ทั้งนี้การพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 3 แห่งดังกล่าว จะสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ โดยเฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านใหม่พัฒนา ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดกลางมีความจุถึง 85 ล้าน ลบ.ม. เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตากอย่างมาก เพราะจะทำให้มีน้ำต้นทุนพอเพียงสำหรับที่จะโรยน้ำ ให้กับเขื่อนทดน้ำโกกโก่ เพื่อส่งให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้อีกกว่า 50,000 ไร่ และยังจะทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะส่งให้กับภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่ิีอีกด้วย


“เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านใหม่พัฒนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนที่จะสำรวจและออกแบบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในปี 2562 คาดว่าประมาณปี 2563 จะสามารถ เริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จ” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว


รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ภาคเกษตรกรรมของทั้ง 3 อำเภอมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเนื่องจากเป็นนิคมสหกรณ์ผลิตข้าวโพด รองจากจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งขาย โดยเฉพาะอำเภอพบพระที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ปลูกทั้งพืชไร่และไม้ผลหลายชนิด เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ลำไย เป็นต้น ส่วนอำเภอแม่สอดนอกจากมีการทำการเกษตรอยู่มากแล้วแล้ว ยังมีการตั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน และการจัดทำนิคมอุตสาหกรรมขึ้น โครงการชลประทานขนาดกลางที่สำคัญที่มีอยู่ใน อ.แม่สอด คือโครงการเขื่อนทดน้ำโกกโก่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นั้น เขื่อนทดน้ำมีความสูงเพียง 6 เมตร บริหารจัดการน้ำจากลำห้วยแม่ละเมาได้เพียงคราวละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในแต่ละปีอยู่ที่ระดับ 100 ล้าน ลบ.ม. จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ” นายเฉลิมเกียติกล่าว


นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวต่อเนื่อง เฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์พม่ที่อำเภอแม่สอด ซึ่งมีมูลค้าการค้าขายหลายหมื่นล้านบาทต่อปี พบว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 14 ล้านลบ.ม. เป็น 21 ล้านลบ.ม.ในอีก 2 ปีข้างหน้า และภายใน 10 ปี จะเพิ่มเป็น 38 ล้านลบ.ม. ในขณะที่ลำน้ำเมย ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ เป็นแหล่งน้ำดิบหลักของอ.แม่สอด มีปัญหาตื้นเขินและมีตะกอนมากในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานต้องเอาเครื่องสูบน้ำเข้าช่วย บางครั้งถ้าระดับน้ำต่ำมากก็ไม่สามารถขุดลอกได้เพราะติดปัญหาระหว่างชายแดน เมื่อฤดูฝนน้ำก็หลากมาอย่างมากจนเข้าท่วมโรงสูบน้ำ เป็นปัญหาซ้ำซากที่ประสบมายาวนาน จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตากดังกล่าว


“หากอ่างฯห้วยแม่ละเมาสร้างเสร็จ นอกจากมีน้ำมาเสริมพื้นที่เกษตรแล้ว สิ่งสำคัญคือ จะทำให้มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของ อ.แม่สอด ได้อย่างพอเพียง เนื่องจากมีแผนสร้างโรงสูบน้ำบริเวณหน้าเขื่อนทดน้ำโกกโก่เพื่อส่งน้ำดิบลงไปผลิตประปาใน เขตอำเภอแม่สอด พร้อมกับสร้างสถานีสูบน้ำที่ฝายท่าวังผา บริเวณปลายแม่น้ำเมยแล้วดึงน้ำไปใช้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์น้ำลำห้วยแม่ละเมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของลุ่มน้ำ” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอการสร้างอ่างฯห้วยแม่ละเมา กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดตอนบนซึ่งจะสร้างเสร็จภายในปีนี้ สามารถเก็บน้ำได้ 13 ล้านลบ.ม. น่าจะเพียงพอสำหรับการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับ อ.แม่สอดได้ในระยะหนึ่ง