เปิดภารกิจกู้ชีวิต 13 นักฟุตบอลเยาวชน ใช้ '18 ซีล' ชั้นครู

เปิดภารกิจกู้ชีวิต 13 นักฟุตบอลเยาวชน ใช้ '18 ซีล' ชั้นครู

เปิดภารกิจกู้ชีวิต 13 นักฟุตบอลเยาวชน ใช้ "18 ซีล" ชั้นครู ฝึกเข้มรับงานทุกรูปแบบ

ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล ของกองทัพเรือ ถูกส่งไปปฎิบัติภารกิจ ค้นหา ช่วยชีวิตทีมฟุตบอลเด็กพร้อมโค้ช รวม 13 คน ที่หายเข้าไปภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 18 นาย ขึ้นชื่อในเรื่องดำน้ำและเป็นนักทำลายใต้น้ำชั้นครู

โดยมีหัวหน้าชุดปฏิบัติการค้นหา คือ น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 จบการศึกษาหลักสูตรต่างๆ อาทิ นักเรียนนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ,ผู้บังคับการเรือและยุทธวิธีเรือผิวน้ำ,เสนาธิการทหารเรือ และรับราชการในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ มาโดยตลอด พร้อมทั้งเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ คือ รองผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ผบ.รบพิเศษที่ 1 เสนาธิการ นสร. ผู้อำนวยการกองส่งกำลังบำรุง ทัพเรือภาคที่ 3 และ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1

โดย กองทัพเรือ ได้รับการประสานขอให้ จัดกำลังพลเข้าไปช่วยค้นหาผู้ประสบภัย ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นอุปสรรค มีน้ำท่วมขังบริเวณทางเข้าปากถ้ำ และเว้นทางมีลักษณะคดเคี้ยว ต้องอาศัยผู้ชำนาญใต้น้ำและเครื่องมือพิเศษ

ทาง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ จึงสั่งการไปยัง น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ไปกำกับดูแล และจัดชุดปฏิบัติการขึ้นมาทำภารกิจนี้เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้คัดนักทำลายใต้น้ำฝีมือระดับพระกาฬ จำนวน 17 นาย เนื่องจากว่าเป็นภารกิจที่สำคัญ คือการช่วยเหลือชีวิตคนและต้องแข่งกับเวลา

"จะอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องหาเด็กให้เจอ พล.ร.อ.นริศ ปทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นห่วงเด็กๆ เร่งให้ค้นหาให้เจอโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ชุดปฏิบัติการพิเศษ จะทำงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดค้นหา เบื้องต้นทางชุดปฏิบัติการได้รายงานความคืบหน้ามาว่ากำลังค้นหา ซึ่งได้ผ่านจุดที่เข้าลำบากที่สุดไปแล้ว ซึ่งเป็นช่องทางลอดเล็กๆ ที่มีน้ำท่วมขึ้นมาประมาณ 5 เมตร น้ำมีลักษณะขุ่น ช่องทางคดเคี้ยว ซึ่งหน่วยงานอื่นเข้าไปไม่ได้ ซึ่งเราได้ส่งชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องมือทะลุทะลวงปฏิบัติการใต้น้ำ จนสามารถลอดเข้าไปได้" พล.ร.ต.อาภากร กล่าว

ทั้งนี้การค้นหาเป้าหมายและช่วยเหลือชีวิต ถือเป็นภารกิจของหน่วยซีล ได้รับการฝึกมาอย่างเข้มข้น รวมถึงประสบการทำงานที่ผ่านมา มาประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลือชีวิตในแต่ละสถานการณ์ ดังนั้นไม่ว่าพื้นที่จะเข้าถึงยากแค่ไหน พวกเขาจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อทำภารกิจให้บรรลุสำเร็จ ยึดตามค่านิยม 4 ประการ
1.แข็งแกร่งปฏิบัติการด้วยความยืนหยัดต่อเนื่อง 2. สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วว่องไว 3. ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวะแวดล้อม 4. เป็นผู้ที่พร้อมที่จะศึกษา ความรู้และบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองเรือยุทธการ มีภารกิจในการจัดเตรียมกำลังสำหรับปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ และปฏิบัติกิจที่ได้รับมอบหมาย ทั้งด้านการฝึกศึกษาเกี่ยวกับการสงครามพิเศษทางเรือ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การปฏิบัติการจิตวิทยา การสำรวจหาดทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาด การตัดรอนเป้าหมายสำคัญทางทหารพื้นที่ยกพลขึ้นบก ดำเนินการด้านการข่าวลับ การก่อวินาศกรรมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ การปฏิบัติการค้นหาและถอดทำลายวัตถุระเบิด

รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การฝึกกำลังพลทดแทนของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ปฏิบัติการสงครามนอกแบบ การสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สนับสนุนโครงการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ 36 การถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยเหนือ ด้วยภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้ ทำให้หน่วยถูกขนานนามว่า “หน่วยซีล” หรือหน่วยรบพิเศษที่สามารถผลิตนักรบ 3 มิติ ที่เรียกว่า เหล็กในคน หรือมนุษย์กบ นั่นเอง