คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20

คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20 มองบาทผันผวนอาจกระทบภาคธุรกิจ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20  ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.92 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ขณะที่เงินหยวนปรับลดลงสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือน ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 1.38 หมื่นล้านบาท และ 2.72 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับยูโร เยนและฟรังก์สวิส หลังข้อมูลเศรษฐกิจของเขตยูโรโซนที่แข็งแกร่งเกินคาดช่วยหนุนค่าเงินยูโร ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกระตุ้นแรงซื้อสกุลเงินที่เป็นแหล่งที่พักเงินที่ปลอดภัย เช่น เงินเยนและฟรังก์สวิส ส่วนเงินปอนด์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แต่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% แต่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบีโออีสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักลงทุนยังคงเทขายสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าอีก 10% จากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หลังเพิ่งประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านรัฐบาลจีนเตือนว่าจะตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ  นอกจากนี้ สหรัฐฯ เรียกร้องให้เก็บภาษี 20% สำหรับรถยนต์นำเข้าที่ประกอบในสหภาพยุโรป ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทในระยะนี้ โดยนักลงทุนจะจับตาสงครามการค้าโลก ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงท่าทีของธปท.เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงแต่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มากเกินไปอาจไม่เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจขณะที่กนง. ระบุหลังมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและเงินทุนไหลออกยังไม่ได้ส่งผลกระทบภาคเศรษฐกิจจริง  ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางเติบโตอย่างกระจายตัวมากขึ้นในระยะถัดไป และกนง.มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 2561