หมายจับ 'ทักษิณ' อีกคดี ป.ป.ช. ฟ้องตั้งคลังฟื้นฟู TPI ไม่ชอบ

หมายจับ 'ทักษิณ' อีกคดี ป.ป.ช. ฟ้องตั้งคลังฟื้นฟู TPI ไม่ชอบ

ไร้เงา! "ทักษิณ" ไม่มีทนายมาศาลนัดพิจารณาครั้งแรก เจอหมายจับคดีฟ้องศาลฎีกานักการเมือง สำนวน 7 ศาลสั่งพิจารณาแบบไม่มีตัวถือว่าให้การปฏิเสธ นัดตรวจหลักฐาน 7 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.61 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 08.30 น. องค์คณะ 9 คน นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในคดีหมายเลขดำ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณี

นายทักษิณ ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

โดยคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 และได้ยื่นฟ้องคดีเอง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.61 ที่ผ่านมา พร้อมยื่นเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้ม ที่มีมติชี้มูลความผิดอาญา นายทักษิณ ชินวัตร ให้ศาลพร้อมคำฟ้อง และเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.61 องค์คณะทั้ง 9 คนพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า แม้การฟ้องไม่มีตัวจำเลย แต่จำเลยคดีนี้ก็ถูกยื่นฟ้องในคดีของศาลฎีกานี้ซึ่งได้ออกหมายจับไว้แล้ว ขณะที่คำฟ้องคดีก็ถูกต้องตามกฎหมาย และ ป.ป.ช.โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ( วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 27 จึงได้สั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิพากษาต่อไป โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลย และปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง ซึ่งให้การปิดหมายมีผลทันที ตาม วิ อม. ม.19

ขณะที่การนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันนี้ปรากฏว่า นายทักษิณ ไม่มาศาล มีเพียงผู้รับมอบอำนาจ ป.ป.ช. โจทก์ มาศาลองค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณ จำเลย ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนี้จึงให้ออกหมายจับ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยแต่ไม่ตัดสินจำเลยที่จะตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ แต่เนื่องจากมีเหตุจำเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะดำเนินการพิจารณาคดีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งจำเลยก็ถูกออกหมายจับมาหลายคดีแล้วแต่ยังจับตัวจำเลยไม่ได้ ดังนั้นองค์คณะจึงอาศัยอำนาจตาม วิ อม. ม. 19 วรรคหนึ่ง (บัญญัติว่า ระยะเวลาที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในกฎหมายอื่น ที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นํามาใช้บังคับ หรือในข้อกําหนดของประธาน ศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคําขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ ตามความจําเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม) ให้ย่นระยะเวลาหมายจับติดตามตัวจำเลย ตามขั้นตอนใน ม.28 วรรคสอง (ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและได้มีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้) จาก 3 เดือนลงเหลือ 1 เดือน โดยให้ป.ป.ช. โจทก์ ติดตามผลการจับกุมพร้อมรายงานผลให้ศาลทราบก่อนการดำเนินกระบวนการพิจารณาในแต่ละนัดต่อไป

โดยเมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ ถือว่าให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม. ม. 33 วรรคสาม (ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่าน และอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คําให้การของ จําเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจําเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และถ้าจําเลยให้การปฏิเสธหรือไม่ให้การ ก็ให้ศาล กําหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์จําเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน ในกรณีที่จําเลยมิได้มาศาล ในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ) ซึ่งศาลกำหนดนัดให้ตรวจพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์คดีนี้ต่อไปในวันที่ 7 ส.ค. นี้ เวลา 13.30 น. และกำหนดนัดไต่สวนล่วงหน้าในวันที่ 10 ส.ค. เวลา 13.30 น. , 14 ส.ค. เวลา 09.30 น. และ 21 ส.ค. นี้ เวลา 10.00 น. โดยให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมคำแถลงเกี่ยวกับแนวทางการไต่สวนพยานที่จัดเตรียมไว้ ส่งต่อศาลก่อนวันนัดพยานตรวจหลักฐานไม่น้อยกว่า 14 วัน และให้หมายแจ้งวันนัดดังกล่าวให้จำเลยทราบต่อไปหากไม่มีผู้รับหมายตามที่อยู่ก็ให้ปิดหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีนี้ถือเป็นสำนวนที่ 7 ที่ นายทักษิณ อดีตนายกฯ ถูกยื่นฟ้องนับจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา , นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา , นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา , นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา