ศาลรธน. เสียงเอกฉันท์ผ่าน ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ชี้2ปมไม่ขัดกับรธน.

ศาลรธน. เสียงเอกฉันท์ผ่าน ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ชี้2ปมไม่ขัดกับรธน.

ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงเอกฉันท์ผ่าน ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ชี้ 2 ปมไม่ขัดกับรธน. พร้อมนัดแถลงมติ คำสั่ง53/2560 วันที่ 5 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยคำร้อง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นขอให้วินิจฉัยความของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อประเด็นการให้บุคคลอื่นใช้สิทธิแทนผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และ ผู้สูงอายุ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ ประเด็นที่ตัดสิทธิผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้เวลาพิจารณาตลอดช่วงบ่าย ก่อนจะแถลงผลการลงมติดังกล่าว ผ่านทางเอกสาร ซึ่งผลพบว่า ทั้ง 2 ประเด็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่าไม่มีความใดที่ข้อหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในประเด็นของการใช้สิทธิแทนผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุรายละเอียดว่า ยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรง และลับตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 85 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ขณะที่ประเด็นการตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองนั้น ถือว่าการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง นั้นเป็นสิทธิชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติ มาตรา 95 วรรคสาม บัญญัติให้สามารถออกกฎหมายจำกัดสิทธิได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับประเด็นคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นคำร้องแทนนักการเมือง ให้วินิจฉัยความของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.). ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนุญหรือไม่ ผลการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ได้นัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและกำหนดประเด็นที่ต้องวินจิฉัย พร้อมนัดแถลงด้วยวาจา หรือปรึกษาหารือ และลงมติอีกครั้ง ในวันที่ 5 มิถุนายน 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดังกล่าว ทำให้กระบวนการประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป. เป็นกฎหมายนั้นสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ โดยขั้นตอนจากนี้ คือ ให้ สนช.​ส่งร่าง พ.ร.ป. ให้นายกฯ ดำเนินการกระบวนการทูลเกล้าฯ ซึ่งมีระยะเวลากำหนดไว้ 20 วัน และภายในเวลาดังกล่าว นายกฯ​ต้องทูลเกล้าฯ โดยมีระยะเวลาที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย คือ ภายใน 90 วัน

ขณะที่ประเด็นที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.​ที่ยื่นหนังสือสอบถามถึงความชัดเจนต่อการส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้กับ นายกฯ เพื่อดำเนินกระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มให้สนช. ได้หรือไม่ ตามเอกสารข่าวไม่ปรากฎประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด