ป.ป.ช. ซัด 'ยุทธศาสตร์ฯ20ปี' เป็นเรื่องท้าทาย

ป.ป.ช. ซัด 'ยุทธศาสตร์ฯ20ปี' เป็นเรื่องท้าทาย

ป.ป.ช. ซัด "ยุทธศาสตร์ฯ20ปี" เป็นเรื่องท้าทาย หวังไทยติดท็อป 20 ประเทศที่มีดัชนีชี้วัดป้องกันทุจริตที่โปร่งใส ระบุ เป็นไปไม่ได้ เบอร์ต้นๆ ล้วนเป็นประเทศเจริญแล้ว

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.61 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และแผนปฏิบัติการร่วมสำนักงาน ป.ป.ช. องค์กร สมาคมมูลนิธิ หน่วยงานด้านสื่อสาร และภาคอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย รวมพลังคนไทยไม่โกง" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้คะแนนดัชนีการรับรู้ทางทุจริต (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) 37 คะแนน มากกว่าปี 2560 จำนวน 2 คะแนน อยู่อันดับ 96 จาก 180 ประเทศ โดยในอาเซียนอยู่ในอันดับที่ 5 ขณะที่เป้าประสงค์ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ตั้งไว้ให้ได้คะแนน CPI ไม่น้อยกว่า 50 คะแนน ขณะที่ดัชนีจาก ม.หอการค้าไทย ที่สำรวจมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบที่จะมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ๆ ของรัฐยังต้องใช้เงินที่มอบให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองที่ทุจริตประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายมากกว่าแสนล้านบาท จากงบลงทุนล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีเมื่อปี 2556 สถานการณ์เคยขึ้นไปถึง 35% แต่สิ่งสำคัญคือความรู้สึกของคนไทยยังมองว่าประเทศไทยมีปัญหาการทุจริตอย่างมาก

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาพอสมควร ในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการแก้ไขหลายประการ การประกาศยุทธศาสตร์ชาติ การตั้งวาระแห่งชาติเรื่องคอร์รัปชั่น พยายามแก้ไขมาอย่างยาวนาน เมื่อปลายปี 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ผู้ร่างระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ทำให้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อรองรับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ โดยเน้นถึงการทำคดีให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพราะข้อจำกัดในอดีตที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายล่าช้า ทำให้ผู้คนไม่เกรงกลัวกฏหมาย โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดหวังว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2561 ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

พล.ต.อ. กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะมีความต้องการให้ประเทศไทยอยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีดัชนีชี้วัดการป้องกันการทุจริตที่โปร่งใส แต่ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นกลับไปว่า การจะทำให้ประเทศไทยอยู่ใน 20 อันดับแรกนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ เป็นประเทศที่เจริญแล้ว ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว ประชาชนเองมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง แต่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

“ขณะที่งบประมาณในการป้องกันการทุจริต ทุกวันนี้เราลงทุนปีละ 3,000 ล้านบาท น้อยกว่างบอุดหนุนกระทรวงบางกระทรวงด้วยซ้ำ ถือว่าเรายังลงทุนเรื่องนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ไม่อยากให้รอถึงยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะที่ 4 หรือ 5 แต่อยากเห็นในเวลาอันใกล้นี้ เป็นสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ไม่คาดหวังว่าจะเป็นท็อป 20 ของโลก ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้คะแนน 50 ใน 100 คะแนน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ แต่สิ่งที่คาดหวังคือ ทุกคนมีความรู้สึกว่า ต่อไปนี้คนไทยทุกคนจะไม่ทุจริต และจะไม่ทน ไม่เฉย ไม่ยอมให้ใครมาทุจริตอีกต่อไป