'ประยุทธ์' ยัน แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเต็มที่ ขอประชาชนมั่นใจ

'ประยุทธ์' ยัน แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเต็มที่ ขอประชาชนมั่นใจ

"ประยุทธ์" ยัน แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเต็มที่ ขอประชาชนมั่นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การสร้างบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รู้สึกไม่สบายใจ เป็นกังวลใจมาโดยตลอด เพราะมีผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และสื่อทุกแขนง ในทุกแง่มุมไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากใคร และเมื่อใด อยากให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่ารัฐบาลและ คสช. จะพยายามทำอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ ขอให้ไว้ใจตนเอง เหมือนที่เคยไว้ใจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะต้องหาทางออก ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน เข้าไปพูดคุยหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทราบว่าการพูดคุยในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยสิ่งแรกที่อยากให้ทำก่อน คือการปลูกป่าขึ้นมาก่อน เรื่องอื่นให้คณะทำงาน ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียด แต่ข้อสำคัญก็คืออย่าไปแสดงความรังเกียจ ชิงชัง ข้าราชการของศาล เพราะเหล่าข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนไปสร้างเอง เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และร่วมกันป้องกันรักษาป่าโดยสามารถเก็บของป่าเพื่อการบริโภคและการค้า รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและป่าได้ รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลและ คสช. จะเร่งดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้บรรลุตามเป้าหมายโดยเร็ว รวมถึง ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน อย่างมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ ตลอดจน จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ “ระยะเร่งด่วน” ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในมิติต่างๆด้วย

ส่วนการเคลื่อนไหวของ P-Move นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาให้ต่อไป จะนำเข้าพิจารณาในคณะทำงานของ คทช. การจัดสรรที่ดิน โดยได้สั่งการไปหมดแล้ว เพียงแต่หลายคนใจร้อน เร่งรัด โดยขอให้ทุกคนทำตามกติกา บรรดาแกนนำต่างๆ ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต ยืนยันรัฐบาลไม่มุ่งหวังที่จะไปปิดกั้น แต่ว่ารับเข้ามาในการพิจารณาของ คทช.ในการจัดที่ดินต่อไป การเคลื่อนไหวต่างๆ อยากให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มาสู่การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ในเชิงกดดันกันไปกันมา เพราะว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอที่ดิน รัฐก็ดำเนินการอยู่ ถ้าไปกดดันมากๆ มันก็ทำไมได้อยู่ดี บางครั้งก็ต้องฟังเหตุผลกันบ้าง

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาคงคุ้นเคยการทำงานของส.ส. ในสภา ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน แล้วทำไมไม่ลองเรียกฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายรัฐบาล” อีกฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายค้านและสนับสนุน” ฝ่ายค้านก็คือว่ามีการตรวจสอบ มีการทักท้วง แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นนโยบายที่มีการปฏิรูป อันนี้ก็ต้องสนับสนุนกัน ไม่เช่นนั้นก็ล้มกันหมด ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ประเทศชาติก็ ไม่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งอาจเปลี่ยนชื่อไม่ได้ แต่อยากให้สร้างความรู้สึกใหม่ๆขึ้นมา เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายก็ ฝ่ายค้านและสนับสนุน เพื่อจะได้มีการตรวจสอบด้วย ไม่อยากให้ค้านกันไปกันมาทุกเรื่อง ค้านก็เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลในสิ่งที่ควรจะเป็น “ติเพื่อก่อ” มีข้อเสนอแนะ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะจากพรรคใด แต่ต้องมี “ธรรมาภิบาล” มีโครงการ มีแผนงาน มีนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม ถ้าทำได้ ก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรม การปรองดอง ที่ไม่ใช่การเอาชนะ คัดค้านกัน เหมือน การโต้วาที ที่มุ่งเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก โจมตีกันไป กันมา แล้วปิดทุกประตูทางออก ปฏิเสธทุกข้อเสนอ ทุกความเห็นต่าง เหมือนพยายามผลักปัญหาเข้าสู่ ทางตัน สุดท้ายแล้ว…ประเทศชาติ และทุกคน ก็เป็นผู้เสียหาย

ดังนั้น จึงขอฝากให้ช่วยกันพิจารณาการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” นี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่กับสังคมไทย ไม่ได้หมายความว่าปรองดองเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันอีก แต่จะต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลให้ได้ ให้เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุผล ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่หา “จุดลงตัว” ให้ได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ร่วมกัน ในการพิจารณาหาทางออกซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ