รพ.รามาฯ ค้นพบวิธีรักษา ‘ธาลัสซีเมีย’ หายขาดครั้งแรกของโลก

รพ.รามาฯ ค้นพบวิธีรักษา ‘ธาลัสซีเมีย’ หายขาดครั้งแรกของโลก

รพ.รามาฯ ค้นพบวิธีรักษา “ธาลัสซีเมีย” หายขาด ด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ Rama Lounge ซึ่งเป็นเพจของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล ได้โพสต์ระบุว่า เพจมีโอกาสสัมภาษณ์กับ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง (Suradej Hongeng) หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก และอาจารย์แพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ทำการวิจัยนี้ที่จะมาเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวให้เราฟังค่ะ

เป็นโรคที่เลือกไม่ได้...ต้องถ่ายเลือดตลอดชีวิต

ผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการให้เลือดและยาขับเหล็กตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 200,000 - 300,000 คนในประเทศไทย ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการตั้งแต่ 2 - 3 ปีแรกที่เป็นโรคซึ่งจะต้องได้รับเลือดทุกเดือน

มีเพียงทางเดียวเท่านั้นให้เลือกรักษา

การรักษาโรคธาลัสซีเมียมีเพียงทางเดียวคือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะได้จากพี่น้องของผู้ป่วยเอง หรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทย มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่สามารถหาผู้บริจาคที่เหมาะสมและระหว่างการรักษามักมีภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอายุขัยลดลง

นวัตกรรมใหม่..ไม่ต้องมาถ่ายเลือดอีกต่อไป

บุคลากรในไทยที่เข้าร่วมวิจัยนี้มีอีก 2 คนคือ ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ อาจารย์แพทย์จากหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็กของรามาธิบดีและ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ แห่งศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

เราได้ร่วมมือต่างประเทศคือ Professor Philippe Leboulch, นักวิจัยจาก University of Paris และทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Harvard Medical School ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อแม่ของผู้ป่วยนำมาทดลองรักษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย
ความยากคือการตัดต่อยีน ซึ่งเราก็ทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเราเป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกที่ทำการรักษาในรูปแบบนี้

ก้าวต่อไปสู่สถานรักษาธาลัสซีเมียครบวงจร

น่ายินดีที่ผลการรักษาคนไข้ทั้งสามเป็นไปอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยที่พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการการถ่ายเลือดอีก ทั้งที่ต้องเคยถ่ายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้สามารถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือเล่นกีฬาได้ และตอนนี้ก็มีชีวิตที่ปกติสุข

ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้สึกดีใจมากกับการได้รับการตีพิมพ์ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 5 - 6 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ หลังจากที่มีการวางแผนมานานเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้

ณ ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เราก็มีความคาดหวังว่าต้องการให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีระบบการรักษารูปแบบนี้อย่างครบวงจร