'ส.อ.ท.' เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน มี.ค.ทุบสถิติรอบ 56 เดือน

'ส.อ.ท.' เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน มี.ค.ทุบสถิติรอบ 56 เดือน

"ส.อ.ท." เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน มี.ค. แตะ1.95 แสนคัน สูงสุดในรอบ 56 เดือน ขายในประเทศโต 22.6% มั่นใจทั้งปีนี้ เข้าเป้า 2 ล้านคัน มูลค่าส่งออก 1 ล้านล้านบาท

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนมี.ค.2561 มีจำนวน 195,257 คัน ซึ่งเป็นยอดการผลิตที่สูดสุดในรอบ 56 เดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.21% ส่งผลให้ยอดรวมการผลิตรถยนต์ในไตรมาส 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 539,690 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.15%

โดยในจำนวนนี้ เป็นการผลิตเพื่อส่งออกของเดือนมี.ค. จำนวน 103,940 คัน ลดจากปีก่อน 0.37% ส่วนยอดผลิตเพื่อส่งออกในไตรมาส 1 มีจำนวน 300,717 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.31% ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ในเดือนมี.ค. มีจำนวน 91,317 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22.62% ส่งผลให้ยอดรวมไตรมาส 1 มีจำนวน 238,973 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.15%

“ดูจากตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไตรมาส 1 แล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจว่ายอดผลิตทั้งปีจะถึง 2 ล้านคันตามเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยขอดูตัวเลขต่อเนื่องอีก 2 เดือน ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเพิ่มเป้าการผลิตขายภายในประเทศที่ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 9 แสนคัน หรือไม่ ส่วนมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบทั้งหมดในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้พยายามมาอยู่หลายปี”

สำหรับการส่งออกในไตรมาส 1 จะขยายตัว แต่ยังมีความเป็นห่วงอยู่บ้าง เนื่องจากในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีหลายตลาดที่ลดลง เช่น เอเชีย ลดลง 7.24% ยุโรป ลดลง 7.82% อเมริกาเหนือ ลดลง 9.47 โดยรถยนต์ที่ส่งออกลดลง ส่วนใหญ่จะเป็นอีโคคาร์ เพราะยังไม่มีรถรุ่นใหม่ๆออกมาแนะนำตลาด ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความต้องการรถยนต์ประเภทนี้ลดลง แต่ทั้งนี้ ตลาดหลักที่มีขนาดใหญ่ยังส่งออกเพิ่มขึ้นมาก เช่น ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นถึง 20.11% และยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และตะวันออกกลาง ที่เพิ่มขึ้น 22.63% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขยายตัว โดยค่ายรถยนต์ก็ได้ปรับตัวผลิตรถเก๋งรุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อบุกตลาดส่งออก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมี.ค.2561 อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเม.ย.ที่มีวันทำงานน้อยกว่าปกติ เพราะมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนจากดัชนีฯ ปริมาณการผลิต และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร รองเท้า และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศ ขณะเดียวกันคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก