‘บีจีซี’ขวดแก้วรักษ์โลก

‘บีจีซี’ขวดแก้วรักษ์โลก

บีจีคอนเทนเนอร์กล๊าส (บีจีซี) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเบอร์ 1 ในอาเซียนไม่เพียงแต่เดินหน้าสู่โรงงานสีเขียวยังขยับสู่โรงงานอัจฉริยะ ขานรับเทรนด์รักษ์โลก ลดใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์แก้ว

ผู้ผลิตอันดับหนึ่งของไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 5 แห่ง กำลังการผลิต 3,495 ตันต่อวัน เตาหลอมทั้งหมด 11 เตาและกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 1 เตาที่ จ.ราชบุรี ตอบความต้องการในตลาดภาคใต้ ในฐานะผู้นำของอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญจึงต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมศักยภาพให้ธุรกิจด้วย

"เราจึงลงทุนหลายพันล้านบาทต่อปีสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมแก้ว” นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) กล่าว

วิจัยสู่ธุรกิจรักษ์โลก

“หากจะเทียบกับอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีอัตราเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำดื่ม แต่อุตสาหกรรมแก้วนั้นไม่เคยมีการเก็บข้อมูล ต้องดูจากจำนวนเตาหลอมที่ถือเป็นกำลังการผลิตหลัก เพราะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง อุณหภูมิ 1,500 องศาเซลเซียส หากหยุดหรือลดอุณหภูมิก็จะทำให้เกิดการแตกร้าวหรือคุณลักษณะที่เปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาของการพัฒนาออกซิเจนเซนเซอร์”

ออกซิเจนเซนเซอร์หรือเครื่องตรวจวัดออกซิเจนภายในเตาหลอม (Oxygen sensor) เป็นผลลัพธ์ที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและพัฒนาคิดค้นขึ้นสำหรับกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมกระบวนการเผาไหม้ในเตาหลอมให้คงที่และการเผาไหม้สมบูรณ์ ส่งผลให้ลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานได้มากกว่า 50% เกิดผลต่อเนื่องคือ สามารถลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์แก้วมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยการนำเศษแก้วมาใช้ในกระบวนผลิตสัดส่วนถึง 50-70% ขวดแก้วที่ใช้แล้วจะผ่านกระบวนการรีไซเคิลและปรับสภาพ เพื่อคัดแยกส่วนประกอบที่ไม่ต้องการออกไป ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการย่อยและขั้นตอนการผลิต ข้อดีของการนำเศษแก้วมาผสมกับวัตถุดิบบริสุทธิ์จะช่วยลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาไหม้

นอกจากนี้ในปี 2557 โรงงานบีจีซีในอยุธยายังได้ริเริ่มนำพลังงานความร้อนทิ้งมาหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการนำพลังงานมาใช้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดการปล่อยของเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นอีกแนวคิดของโรงงานสีเขียวที่เน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผลลัพธ์จากการริเริ่มครั้งนั้นเกิดเป็นธุรกิจใหม่ “บีจี เอนเนอยี่” (บีจีอี) ดูแล 3 โครงการพลังงานทางเลือก ได้แก่ พลังงานความร้อนทิ้ง (Waste Heat Energy) ใช้ความร้อนหรือไอน้ำที่ปกติทิ้งไประหว่างการผลิตมาผ่านกระบวนการดึงพลังงานกลับมาใช้ใหม่ในโรงงานและขายออกไปข้างนอกบางส่วน, พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟท็อป) โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานที่อยุธยา พร้อมตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าใช้เอง 20-30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และพลังงานลมที่อยู่ระหว่างการศึกษาโดยทดลองตั้งกังหันลมที่ระยอง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานลม

จุดมุ่งหมายของบีจีซีคือ การผลิตไฟฟ้าป้อนบริษัทในเครือ หากเหลือใช้ก็ส่งขายให้บริษัทภายนอก

เดินหน้าโรงงานอัจฉริยะ

โรงงานบีจีซียังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมประสิทธิภาพ โดย 2 ปีที่ผ่านมาโรงงานที่ขอนแก่นกลายเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) หลังจากนำร่องใช้ระบบออโตเมชั่น แขนกลและระบบอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิในเตาหลอม และระบบการควบคุมคุณภาพน้ำแก้วที่เหมาะสม

ยกตัวอย่างแขนกลช่วยทาน้ำมันแม่พิมพ์ที่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของน้ำมันและน้ำหนักการทา เมื่อเทียบกับแรงงานคนซึ่งมีข้อจำกัดคือ ความร้อนที่แรงงานทนนานไม่ได้ ขาดความแม่นยำและสม่ำเสมอของน้ำหนักการทา

“หัวใจสำคัญนอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็คือเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ วิน-วิน ทั้งการลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อมโลก ยังมีผลในเชิงธุรกิจจากต้นทุนที่ลดลง กระบวนการผลิตก็เร็วขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้น แถมยังช่วยให้เราใช้แรงงานคนน้อยลง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เจอมาตลอด” นายศิลปรัตน์ กล่าว