นายกฯให้ 'สนธยา' ช่วยดูอีอีซี ไร้ปัญหาไม่ลาออก 'หน.พลังชล'

นายกฯให้ 'สนธยา' ช่วยดูอีอีซี ไร้ปัญหาไม่ลาออก 'หน.พลังชล'

เผย "ประยุทธ์" ให้ "สนธยา" ช่วยดูอีอีซี ไร้ปัญหาไม่ลาออก "หัวหน้าพรรคพลังชล" โบ้ยถามนายกฯ เหตุสังคมมองว่าเป็นการหาแนวร่วมเพื่อสืบทอดอำนาจภายหลังการเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 10.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย. มีมติแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า มารับหน้าที่ส่วนไหนไม่ทราบ เท่าที่ทราบพล.อ.ประยุทธ์ จะให้มาดูเรื่องอีอีซี ได้รับเงินเดือนประมาณ 6-7 หมื่นบาท

ส่วนนายอิทธิ คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เงินเดือนประมาณ 5 หมื่นบาท แต่ต้องเสียภาษีตามปกติ ซึ่งการแต่งตั้งทั้ง 2 คน สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยแนบคุณสมบัติมาเรียบร้อยแล้ว ในครม.จึงไม่ได้พูดอะไรกัน

นายวิษณุ กล่าวว่า ตนกับนายสนธยารู้จักกันมานาน และนายสนธยาได้อาสามา เพื่อจะสื่อสารกับประชาชน และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพราะพื้นที่ของนายสนธยา เป็นอีอีซีอยู่แล้ว เพราะจุดสำคัญของอีอีซีคือประชาชนต้องเข้าใจ ในผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งนายสนธยาเองก็มีคณะทำงานอยู่ในพื้นที่ ไม่มีอะไรมากมาย

เมื่อถามว่า การเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ขัดต่อการรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขัดกฎหมาย สมัยก่อนก็มีแบบนี้ แต่ถ้าเป็นส.ส.มาเป็นไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ โดยตำแหน่งมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเมือง ฝ่ายการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนนายกฯ จะให้ทำอะไรก็แล้วแต่นายกฯ เหมือนกับรัฐมนตรีที่จะมีที่ปรึกษาทุกคน สำหรับนายกฯ อาจมีที่ปรึกษาได้ถึง 5 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันหนึ่งประกาศวันเลือกตั้ง นายสนธยาสามารถลาออกไปสมัครส.ส.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องลาออก แต่ถ้าจะลาออกก็ได้ เหมือนกับรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออกเหมือนกัน แต่บังเอิญครม.ชุดนี้รัฐธรรมนูญไปกำหนดไว้ ถ้าจะลงเลือกตั้งต้องลาออกก่อนหน้านี้ ไม่อย่างนั้นลงเลือกตั้งไม่ได้ เมื่อถามต่อว่า สังคมมองว่าเป็นการหาแนวร่วมเพื่อสืบทอดอำนาจภายหลังการเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องถามนายกฯเอง

นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 หลังพรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อกเพื่อให้ทำกิจกรรมได้ว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา