125 ปีอัยการ 'อสส.' ยึดหลัก ปชช.ศูนย์กลาง

125 ปีอัยการ 'อสส.' ยึดหลัก ปชช.ศูนย์กลาง

125 ปี “เข็มชัย ชุติวงศ์” อสส. ชี้ทิศทางองค์กรอัยการ ดูแลทั้งประโยชน์รัฐ-ปชช. เป็นทนายแผ่นดิน คู่ไทยแลนด์ 4.0 สร้างอัยการรุ่นใหม่มีไฟลุยงานเชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.61 ที่ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นประธานพิธีเปิดงานวิชาการ เนื่องในวันสถาปนาองค์กรอัยการครบ 125 ปี วันที่ 1 เม.ย. โดยมี "ปิยะ ปะตังทา" ประธานศาลปกครองสูงสุด , นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย และอดีตรองอัยการสูงสุด อาทิ นายคณิต ณ นคร นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม พร้อมทั้งเอกอัครราชทูตและทูตานุทูต . อัยการจากต่างประเทศ , ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , องค์กรอิสระ , หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ร่วมงานคับคั่ง

โดย นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด กล่าวปาฐกถาในพิธีงานวิชาการเกี่ยวกับทิศทางของอัยการว่า ตลอดเวลา 125 ปีอัยการ ทิศทาง-ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่เราพยายามแสวงหาความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใด โดยเห็นได้ว่าเมื่อแรกเริ่มเดิมอัยการจะเป็นหน่วยราชการเหมือนกับสังกัดราชการพลเรือน แล้วในปี 2503 เราก็อยกออกเป็นข้าราชการอัยการซึ่งแม้ว่ายังสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม กระทั่งปี 2534 จึงมาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดที่แม้อยู่กับฝ่ายบริหารแต่ก็ไม่ได้สังกัดกระทรวง ทบวง กรมใดๆ และสุดท้ายตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน อัยการก็ได้เป็นองค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญ เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร นี่ก็คือทิศทางหนึ่งซึ่งเห็นได้ว่าองค์กรอัยการนั้นได้มีการพัฒนาในทางที่ทำให้พนักงานอัยการมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งความจำเป็นที่พนักงานอัยการต้องมีความเป็นอิสระต่อการปฏิบัติหน้าที่ก็เพราะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการไม่ว่าจะเป็นการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของรัฐเราจำเป็นต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาบางอย่างด้วยความเที่ยงธรรม ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีแรงกดดันหรือปัจจัยภายนอกมาบิดเบือนดุลพินิจหรือการปฏิบัติหน้าที่อย่างนั้น

ในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่าพนักงานอัยการมีบทบาทกน้าที่สำคัญในการอำนวยตวามยุติธรรมในทางอาญา ทิศทางขององค์กรอัยการตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นจนถึงมีการขับเคลื่อนไปในทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในการดำรงความยุติธรรมมีความเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น โดยครั้งที่ตนเข้ามาทำงานเป็นอัยการผู้ช่วยใหม่ๆ ก็มีความรู้สึกว่าการจะสั่งคดี การสั่งฟ้องผู้ต้องหาทำได้ง่ายเหลือเกินและอัยการส่วนใหญ่ในสมัยนั้นก็มักจะสั่งฟ้อง แตในเวลาที่ผ่านไปก็เห็นว่าจะพิถีพิถันในการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีมากชึ้นและพยายามที่จะให้การฟ้องอัยการประสบผลสำเร็จคือการที่ศาลจะสามารถลงโทษได้ ซึ่งตนคิดว่าทิศทางนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมโดยเฉพาะในขั้นตอนที่สำคัญอย่างมากที่เป็นบทบาทหน้าที่ของอัยการในการสั่งคดีได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล

นอกจากนี้ อัยการยังมีบทบาทอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเป็น "ทนายความแผ่นดิน" ที่ทำมาตั้งแต่มีอัยการเมื่อปี พ.ศ.2436 ซึ่งความหมายของการเป็นทนายแผ่นดิน คือ การทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานของรัฐทั้งหลาย โดยปัจจุบันเรายังทำหน้าที่นั้นอยู่ซึ่งทิศทางของอัยการเนาก็พยายามที่จะแสวงหาความเป็นมืออาชีพ ด้วยการฝึกฝนพนักงานอัยการให้เป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญสามารถสนองตอบงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นงานในคดีแพ่งหรือคดีปกครองทั้งการว่างต่างและแก้ต่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และงานสำคัญอีกอย่างที่ไม่ค่อยจะได้เห็นช่วงก่อตั้ง แต่ก็เป็นอีกงานที่ตนเห็นว่าสำคัญก็คือ งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ที่เป็นงานใหม่ขององค์กรอัยการที่เริ่มต้นเมื่อปี 2526 - ปัจจุบัน

โดยต้องยอมรับว่าคนไทยในชนบทที่ห่างไกลยังขาดความรู้ในทางกฎหมาย ยังถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ส่าจะเป็น ในกระบวนการทำสัญญา การทำนิติกรรมเข้าร่วมในธุรกิจต่างๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีความรู้ดีกว่า ซึ่งเขาก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครโดยกว่าที่จะไปฟ้องร้องคดีที่ศาลก็อาจจะสายไปแล้วเพราะบางว่าเบื้องต้นทำมาโดยเสียเปรียบทุกประการ ดังนั้นตลอดเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา พนักงานอัยการก็พยายามที่จะแก้ปัญหาลดช่องว่างตรงนี้ด้วยการนำความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นไปเผยแพร่ในระดับฐานรากให้กับประชาชนในชนบทที่ห่างไกล โดยเราทำงานนี้ติดต่อกันมานานแล้วนอกจากนี้เราจะยังให้บริการด้วยความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนยากไร้ไม่มีเงินพอจะไปจ้างทนายความ ซึ่งในนโยบายปฏิรูปล่าสุดที่สำคัญประการหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมรับเป็นเจ้าภาพหลักคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางกยฎหมายระหว่างคนในสังคมก็เน้นเกี่ยวกับเรื่องการทำให้คนที่มีและคนที่ไม่มี (เงิน) มีโอกาสตกเท่าเทียมกันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีตกเป็นผู้ต้องหาหรือเกี่ยวข้องในคดีอาญา ส่วน "สำนักงานอัยการสูงสุด" พนักงานอัยการทั้งหลายเราก็เป็นแนวร่วมกับกระทรวงยุติธรรมที่จะช่วยเรื่องกันในเรื่องนี้ต่อไป

"นายเข็มชัย" อัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า เมื่อจะพูดถึงทิศทางของอัยการในอนาคต ก็คงต้องยึดเอารัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 เป็นหลัก โดยในรัฐธรรมนูญฯ นั้นมีบทบัญญัติที่แสดงถึงทิศทางองค์กรอัยการไว้ในมาตรา 248 ที่พูดถึงการพัฒนาองค์กรด้านการบริหารงานบุคคลเป็นมาตราที่รับรองสถานะความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญขององค์กรอัยการซึ่งต่อไปก็ต้องออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติรองรับต่อไป นอกจากที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ แผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่บัญญัติอยู่ในมาตรา 258 และขณะนี้รัฐบาลก็ได้ขับเคลื่อนด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแบะได้ร่างแผนการปฏิรูปฯ 20 ปี ซึ่งตนก็คิดว่าคงจะเสร็จแล้วสำนักงานอัยการสูงสุดและองค์กรอัยการเราก็คงพัฒนาไปในทิศทางนั้น

"อย่างไรก็ดีตนก็หยิบยกบางเรื่องขึ้นมากล่าวถึงทิศทาง ซึ่งแม้จะไม่สามารถคาดการณ์ไปได้จนถึง 20 ปีเหมือนในแผนปฏิรูปฯนั้น นั่นก็คือ ต่อไปนี้ตนคิดว่าในการพัฒนาหรือการจะแสดงบทบาทใดๆก็ตามในกระบวนการยุติธรรมเราคงต้องยึดถือ "ประชาชน" เป็นศูนย์กลาง คงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าในแต่ละกระบวนการ ที่เราได้คิดและทำมาตอบสนองความต้องการและความผาสุขของประชาชนอย่างไร ก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจพัฒนาตัวองค์กรอัยการเจริญงอกงามขึ้นมาเป็นอย่างมาก แต่ต่อไปเราต้องนึกถึงชาวบ้านมากขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่พยายามจะผลักดัน คือ เรื่องการประสานงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ในอดีตเราอาจเคยได้ยินคำครหานินทาว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมักจะสร้างอาณาจักรของตัวเองแล้วก็อยู่โดดเดี่ยวลำพัง มีคุณค่านิยมโดยตัวชี้วัดของตัวเองไม่สนใจคนอื่น

ตนจึงคิดว่าองค์กรอัยการอย่างน้อยที่สุดจะพยายามผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมา โดยต้องอาศัยความเสียสละของใครสักคนหนึ่งซึ่งตนคิดว่าคนที่ควรจะต้องมีบทบาทนำเรื่องนี้ คือ องค์กรอัยการ เราต้องยอมละ อัตตาส่วนตัว ความยึดมั่น ถือมั่น แล้วไปร่วมมือร่วมใจกับคนอื่น" อัยการสูงสุด ระบุถึงทิศทางองค์กรอัยการในอนาคต

ตนอยากบอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาเราได้ทำงานลักษณะนี้ (ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน) และประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ช่วงหลายิ 10 ปีที่ผ่านมา เราเคยมีความร่วมมือปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด เราร่วมมือกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด ร่วมมือกันสำนักงาน ปปส. , ปปง. ทำงานอย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องมีกฎหมายที่ไหนมาบังคับว่าให้เราร่วมกันสอบสวนแต่เราเห็นเป้าหมายความสำเร็จของงานเป็นหลัก ตนคิดว่าในวันนี้งานส่วนหนึ่งของการสถาปนาองค์กรอัยการ 125 ปี ก็จะได้เห็นการแสดงหรือการนำเสนอความร่วมมือระหว่างองค์กรอัยการ กับ ปส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเรายังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ที่เราร่วมทำงานกันมาหลายปีแล้วในคดีใหญ่ๆ หลายคดี

ล่าสุดก็คดีนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นคดีที่มีร้ายแรงระกับสากลคือปราบปรามการทุจริต และการค้ามนุษย์ ที่เป็นอาชญากรรมซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับไม่ว่าประเทศใด อัยการก็ให้ความร่วมมือโดยเราพบว่าวิธีนี้ที่จะบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ แล้วทำให้การดำเนินงานปราบปรามมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยนอกจากคดีค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนอัยการได้ระดมกำลังดำเนินการแล้ว คดีปราบปรามการทุจริตก็เป็นอีกทิศทางที่อัยการจะดำเนินการให้ความร่วมมือ ป.ป.ช.อย่างใกล้ชิด ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจเห็นหน่วยงานมีความเห็นทางคดีแตกต่างกันแล้วสังคมอาจมองว่าเกิดความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกันหรือไม่ ตรงนี้องค์กรอัยการก็จะพยายามอย่างยิ่งที่จะทำความร่วมมือ และความเข้าใจกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้

อีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นการประสานงานที่สำคัญยิ่ง ก็คือ การประสานงานระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรายึดถือคติที่ว่า ไม่ยอมให้อาชญากรมีที่อยู่ใดๆ บนโลกนี้ นั่นแปลว่าทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งการปนะสานงานระหว่างที่สำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1.การส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2.การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในทางอาญา ซึ่งเราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งกับผู้แทนสถานทูตประเทศต่างๆ ทั้งกรณีที่ประเทศขอความร่วมมือจากต่างประเทศ และที่เขาก็ขอความร่วมมือจากเราก็ขมีขมันดำเนินการให้ โดยการประสานงานลักษณะนี้ มีทั้งการประสานงานแบบทางการและไม่ทางการ และจากประสบการณ์ที่ตนเคยผ่านมารู้สึกว่าการประสานแบบไม่เป็นทางการบางครั้งก็ให้ผลได้เกินกว่าที่คาดหมาย การที่อัยการของไทยกับอัยการต่างชาติรู้จักกันเป็นเพื่อนกัน เคยอบรมด้วยกันทำมห้สามารถที่จะติดต่อประสานงานกันได้อย่างดี

เช่นการยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันได้ทำความเข้าใจกันได้ก่อน ก็ทำให้การดำเนินกันไปได้ด้วยกันอย่างดี แทนที่จะรอส่งเอกสารกันไปมาซึ่งใช้เวลานานและถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และทิศทางขององค์กรอัยการ ที่จะพยายามผลักดันดำเนินการอีกประการ คือ "บริการเป็นทนายแผ่นดินของหน่วยงานรัฐต่างๆ" ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการอย่างมาก เราพยายามอย่างยิ่งที่จะฝึกฝนให้มีอัยการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ในอดีตอัยการก็จะเหมือนกับข้าราชการอื่นๆซึ่งอาจมีความคิดที่ไม่ถูกนักว่าอัยการทำได้ทุกอย่างแต่ก็ไม่มีอัยการไหนที่ทำได้ทุกอย่างแล้วจะได้ประสิทธิภาพดีอย่างที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องการ ดังนั้นเราจึงจะสร้างความชำนาญเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เขามีความเก่งกาจสามารถในด้านนั้นโดยไม่จำเป็นต้องเก่งในด้านอื่น ในอดีตการหมุนเวียนโยกย้ายอัยการก็เหมือนกับข้าราชการอื่นๆ ที่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ซึ่งเช่นนี้บางครั้งทำลายโอกาสที่จะสร้างความเชี่ยวชาญพิเศษดังนั้นเราจะหาทางสร้างบุคคลากรเชี่ยวชาญขึ้นมา

สุดท้ายคือ ทิศทางความทันสมัยที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยการบริหารจัดการทุกขั้นตอนขององค์กรอัยการให้เป็นแบบไทยแลนด์ 4.0 โดยในอนาคตอันใกล้นี้ตนคิดว่าการติดสื่อสารระหว่างประชาชนกับรัฐจะทำให้เป็นดิจิตอลมากขึ้นทั้งนี้เพื่อความสะดวกกับประชาชน โดยองค์กรอัยการก็ต้องตอบสนองต่อสิ่งนี้ด้วย เพราะเรายังจะใช้กระดาษอยู่ต่อไปก็คงไม่ไหว จึงคิดว่าในหลายส่วนงานต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ระบบนี้

"ผมขอเน้นย้ำว่าในทิศทางขององค์กรอัยการที่จะต้องปฏิรูปไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมตามแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลและตามรัฐธรรมนูญ ผมเองมีความเชื่อในหลักพุทธศาสนาเกี่ยวกับทางสายกลาง เราคงไม่สามารถที่จะเน้นไปทางหนึ่งทางใดให้เดินแนวความคิดสุดโต่ง การปฏิรูป การจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ เรื่อง คงต้องยึดถือทางสายกลาง" นายเข็มชัย อัยการสูงสุด กล่าวและว่าตนก็ได้รับเลือกไปเป็นกรรมการร่วมปฏิรูปตำรวจ ในวันแรกที่นายกฯ เรียกประชุมให้นโยบายโดยให้โอกาสกรรมการในคณะได้แสดงความคิดเห็น ตนก็ได้พูดในที่ประชุมว่าการปฏิรูปองค์กรที่มีความสำคัญขนาดนี้ มีแนวความคิดหลายด้านหลายทางแตกต่างกันค่อนข้างมาก ตนจึงเสนอแนะว่าควรยึดถือทางสายกลาง คือทางที่สามารถรับกันได้ระหว่างทุกๆฝ่ายแม้จะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดแต่ว่ามันจะต้องดีขึ้น ซึ่งตนก็คิดว่าแนวทางที่คณะกรรมการฯ เสนอรัฐบาลไปก็อาจไม่เป็นที่พอใจของคนในสังคม ซึ่งในการเสนอนั้นมีคนพยายามเสนอแก้ไข เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นได้ในวิชาการแต่เป็นจริงไม่ได้ ดังนั้นการเสนอจึงมีอุปสรรคอย่างมาก

นายเข็มชัย ยังกล่าวทิ้งท้ายกับข้าราชการอัยการทั้งหลายด้วยว่า ในส่วนขององค์กรอัยการเอง แม้ตนจะมีแนวคิดหลายอย่าง แต่ก็คิดว่าการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางใดก็ตามเพื่อนร่วมงานในองค์กรอัยการจะมีบทบาสำคัญในการร่วมแบ่งปันความคิดเพื่อที่จะหาฉันทามติร่วมกันและขับเคลื่อนองค์กรของเราต่อไปในอนาคต ทิศทางขององค์กรอัยการจะในมือของพนักงานอัยการทุกคน โดยตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพยายามนำความคิดของทุกคนมาตกผลึกร่วมกันมาขับเคลเราจะสร้างอัยการรุ่นใหม่ มีความตั้งใจจริง มีไฟที่จะปฏิบัติงาน ซึ่งโอกาสนี้ตนขอขอบคุณทุกคนที่ได้มาร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานครบรอบสถาปนาองค์กรอัยการ 125 ปี กลุ่มอัยการรุ่นใหม่ยังได้นำร้องเพลง "อัยการของแผ่นดิน" ซึ่งคำร้อง-ทำนองประพันธ์โดยนายสมัชญ์พล ศรีชลวัฒนา อัยการผู้ช่วยรุ่น 51 ด้วย โดยก่อนเข้ามารับราชการอัยการ เคยประกอบอาชีพวิศวกรไฟฟ้ามาก่อนด้วย