ธอส. 'เว้นค่าธรรมเนียม' ฝากถอนข้ามเขต

ธอส. 'เว้นค่าธรรมเนียม' ฝากถอนข้ามเขต

"ธอส." ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมเงินฝากและถอนข้ามเขตผ่านหน้าเคาน์เตอร์-ตู้เอทีเอ็ม เผยสูญเสียรายได้เพียง 50 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีรายได้ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี

ธอส.ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมเงินฝากและถอนข้ามเขตผ่านหน้าเคาน์เตอร์ รวมถึง ค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าและเป็นทิศทางเดียวกับแบงก์พาณิชย์อื่นที่ลดค่าธรรมเนียมการใช้ธุรกรรมผ่านมือถือ ขณะที่ สูญเสียรายได้เพียง 50 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีรายได้ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยว่า นับจากวันนี้ (2เม.ย.) เป็นต้นไป ธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้าที่ใช้บริการเงินฝากและถอนข้ามเขตผ่านเคาน์เตอร์ของและการใช้ธุรกรรมผ่านระบบเอทีเอ็มของธนาคาร เพื่อเป็นการลดภาระให้แก่ลูกค้า ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถือเป็นทิศทางเดียวกันกับหลายธนาคารพาณิชย์ที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ ปัจจุบัน ธนาคารยังไม่มีบริการธุรกรรมการเงินบนมือถือ จึงหันมายกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านเคาน์เตอร์และตู้เอทีเอ็มแทน

"การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้ธนาคารสูญเสียรายได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมรวม โดยจะสูญเสียราว 50  ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมรวม 1 พันล้านบาทต่อปี แต่การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าได้"

เขากล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ธนาคารยังได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุพเพสันนิษวาส อัตราดอกเบี้ย 10 ปีแรก คงที่ 3.99%ต่อปี ให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป มีผู้กู้ร่วมได้ มีกรอบวงเงิน 3 พันล้านบาท โดยหลังจากที่ประกาศจัดทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า มีลูกค้าแสดงความสนใจที่จะมาเข้าติดต่อขอยื่นกู้จำนวนมาก"

"อัตราดอกเบี้ยคงที่ยาวถึง 10 ปีแรก นับเป็นนวัตรกรรมทางการเงินที่ตอบโจทก์คนไทยภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เราคาดว่า จะได้รับความสนใจจากลูกค้า โดยหากความต้องการเป็นไปตามคาด เราก็คงจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่แบบนี้อีก โดยอาจจะตั้งวงเงินสินเชื่อให้มากขึ้นหรือราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี"

เขากล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เรากำหนดระยะ 10 ปีที่ 3.99%นั้น ถือว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และ ทำให้ธนาคารมีมาร์จินที่บางมาก โดยธนาคารได้ออกพันธบัตรระยะ 10 ปี เพื่อนำมาดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 3% ต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการ ทำให้อัตราผลตอบแทนการออกพันธบัตรอยู่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อมาก

"เนื่องจาก นโยบายรัฐไม่ต้องการให้ธนาคารเน้นสร้างผลกำไร แต่ต้องการให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น เราจึงสามารถพิจารณาออกสินเชื่อโครงการดังกล่าวได้"

สำหรับความเสี่ยงของผู้กู้อายุ 50 ปีเป็นต้นไปต่อสินเชื่อของธนาคารนั้น เขากล่าวประเมินว่า ธนาคารจะพิจารณาผู้กู้ที่มีเงินเดือนประจำและกลุ่มข้าราชการ เพราะทั้งสองกลุ่มจะมีรายได้ที่แน่นอน และ เชื่อว่า คนอายุดังกล่าว หากเป็นผู้ที่กำลังทำงาน จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้พอสมควรแล้ว จึงไม่ถือเป็นลูกค้ากลุ่มเสี่ยง

"คนที่จะตัดสินใจกู้บ้านเมื่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะต้องมั่นใจแล้วว่า จะมีความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางรายได้ โดยโครงการนี้ ถือเป็นทางเลือกของผู้กู้ที่สูงอายุที่ต้องการจะมีบ้านเป็นของตัวเอง หรือ สำหรับคนที่มีบ้านอยู่แล้ว เดิมคิดจะขอสินเชื่อรีเวิร์ส มอเกต ก็อาจจะขายบ้านหลังใหญ่ที่มีอยู่ แล้วเอาเงินมาซื้อบ้านหลังเล็กๆไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่ออยู่ศัยได้"