สตอรี่ใหม่ 'รพ.ลาดพร้าว' ผุดธุรกิจเชิงพาณิชย์

สตอรี่ใหม่ 'รพ.ลาดพร้าว' ผุดธุรกิจเชิงพาณิชย์

เปิดแผนธุรกิจฉบับล่าสุด 'โรงพยาบาลลาดพร้าว' ยึดทำเลความได้เปรียบสร้าง 'ธุรกิจเชิงพาณิชย์' เสริมพอร์ตรายได้ 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ผู้ก่อตั้ง ส่งสัญญาณอนาคตจะไม่ใช่แค่ Health Care อีกต่อไป...!!!

ผลประกอบการปี 2560 ของ บมจ. โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ 'โรงพยาบาลลาดพร้าว' ออกมาเติบโตโดดเด่น สะท้อนผ่าน 'ตัวเลขกำไรสุทธิ' ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 193.83  ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2559 ที่อยู่ระดับ 155.90 ล้านบาท 

ทว่า ยิ่งพิจารณาสตอรี่ที่อาจช่วยผลักดันฐานะการเงินให้เติบโตมากขึ้น ทำให้พอเห็นภาพว่า เหตุใดที่ผ่านมาหุ้น LPH จึงกลายเป็นขวัญใจของเหล่ากองทุนทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น บ่งบอกผ่านสัดส่วนการทยอยเข้าถือหุ้นของนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เอ็นซีเอช 2555 โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท ยูเนี่ยนแคปปิทอล จำกัด , บมจ.ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดย บลจ.บัวหลวง จำกัด , บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)-เคแทม โกรท โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด , บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) ,กองทุนเปิด ภัทร SMALL AND MID CAP EQUITY ,กองทุนเปิด ภัทร หุ้นระยะยาวปันผล

'อังกูร ฉันทนาวานิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า กำไรสุทธิที่ขยายตัวตัวต่อเนื่องอาจเป็นสาเหตุทำให้นักลงทุนสนใจหุ้น LPH ยิ่งเฉพาะแผนธุรกิจภายใน 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว '2,000 ล้านบาท' ในโครงการลงทุนทั้งหมด 

ประกอบด้วย โรงพยาบาลประกันสังคมแห่งใหม่ , โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา , ปรับปรุงอาคารเพิ่มศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center)  ,อาคารจอดรถอัจฉริยะ และการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีผลดำเนินงานเป็นกำไร  

ทว่า ตอนนี้ไม่ใช่มีแค่ปัจจัยบวกเหล่านี้อย่างเดียวแล้ว...!! แต่พบว่ามี 'สตอรี่ใหม่' เพิ่มเข้ามา ล่าสุด และเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากแผนการลงทุนที่วางไว้ นั่นคือ 'โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง' (ลาดพร้าว-บางกะปิ-ศรีนครินทร์) ที่ปัจจุบันเริ่มก่อสร้างแล้วถือเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาใหม่ ส่งผลให้บริษัทต้องมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มการลงทุนรับปัจจัยบวกเพิ่มเติมเข้ามา ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาของซื้อตึกข้างหน้าโรงพยาบาลเพิ่มพื้นที่ในการขยายการลงทุน    

ด้วยทำเลโดดเด่นหน้าโรงพยาบาลลาดพร้าวมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอยู่หน้าโรงพยาบาลฉะนั้น ต่อไปพื้นที่บริเวณโรงพยาบาลลาดพร้าวอาจจะไม่ใช่เพียงแค่มารักษาพยาบาลของคนไข้อย่างเดียวแล้ว อนาคตอาจกลายเป็น 'เซ็นเตอร์' สำหรับคนในพื้นที่ในการมาเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเพื่อไปทำงานหรือไปยังสถานีอื่นๆ ได้ โดยประเมินคนอาจจะมาจอดพักรถยนต์ที่ 'อาคารจอดรถอัจฉริยะ' ที่บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการลงทุน และเดินทางต่อด้วยระบบรถไฟฟ้าได้ ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลมีการทำอาคารเชื่อมต่อระหว่าง 2 อาคาร ซึ่งระหว่างทางจะเปิดให้เช่าพื้น และมีล่าสุดมีร้านมาจองพื้นที่บริเวณทางเชื่อม 2 อาคารเต็มหมดแล้ว อาทิ แบรนด์ดังๆ สตาร์บัค , S&P เป็นต้น 

'อนคาต รพ.ลาดพร้าว ก็จะมีรายได้เชิงพาณิชย์จากการให้เช่าพื้นที่ และค่าจอดรถ เข้ามาซึ่งจะเป็นส่วนที่เป็นรายได้เพิ่มเติมเข้ามา ต่อไปพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเซ็นเตอร์ไม่ใช่เพียงแค่รพ.เท่านั้น'

สำหรับแผนการลงทุนเดิม 'ดอกเตอร์' แจกแจงแผนแต่ละโครงการ ว่า 'โรงพยาบาลประกันสังคม' ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งใหม่จำนวน 50 เตียง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 และเปิดดำเนินการปี 2563 ซึ่งปัจจุบันกำลังเจรจาซื้อที่ดินราว 1 ไร่ครึ่ง ขณะที่แบบอาคารมีการออกแบบไว้พร้อมแล้ว      

สอดคล้องในส่วนของแนวโน้มคนไข้ 'ประกันสังคม' มีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากคาดว่าจะมีประชากรเข้ามาอยู่ในพื้นที่ลาดพร้าวเพิ่มมากขึ้นจากโครงการลงทุน 'โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง' (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์) สะท้อนผ่านปัจจุบันมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้ามาลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น 

ดังนั้น คาดว่าจะมีผู้ประกันตนในเขตลาดพร้าวจะเพิ่มขึ้น ตอนนี้ประชากรในพื้นที่เกือบ 1 ล้านคนแล้ว และคาดว่าจะเกิน 1 ล้านคน ในอีก 3 ปีข้างหน้า 'เราต้องเตรียมความพร้อมรับดีมานด์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น'

โดยในปีนี้บริษัทมีการลงทุนเพิ่มห้องตรวจอีก 20 ห้อง เพื่อรองรับโควต้าประกันสังคมในปี 2562 โดยจะของโควต้าประกันสังคมเพิ่มอีก 50,000 ราย รวมทั้งการขยายห้องแลปทางด้านการแพทย์ และเน้นไปทางการตรวจสุขภาพนอกสถานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีโควต้าประกันสังคม 1.6 แสนคน ปีหน้าจะขอเพิ่มอีก 50,000 คน จะเป็น 2.1 แสนคน และหลังจากสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมให้เสร็จ คาดว่าจะขอโควต้าเพิ่มอีก 50,000 คน รวมเป็น 2.7 แสนคน สาเหตุที่มีการขยายฐานคนไข้ประกันสังคมเพิ่ม เพราะคาดว่าจะมีผู้ประกันตนในเขตลาดพร้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่ามีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 

รวมทั้ง ยังมี 'คนไข้ต่างชาติ' ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย ปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องกับรัฐบาลมีนโยบายให้กลุ่มต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทยเข้ากลุ่มประกันสังคมเพื่อให้เป็นระบบ คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า น่าจะมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น ดังนั้น บริษัทก่อสร้างอาคารผู้ป่วยประกันสังคมเพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ประกันสังคม   

โครงการลงทุนก่อสร้าง 'อาคารจอดรถอัจฉริยะ' ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมแห่งใหม่นั้น บริษัทเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับดีมานด์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 จะลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถอัจฉริยะ ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างจากประเทศเกาหลีใต้และจีน วงเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถจอดรถได้ราว 500 คัน คาดว่าจะสร้างเสร็จในปีนี้ 

โครงการเพิ่ม 'ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์' (Excellent Center)  4  ศูนย์ (แม่ ,เด็ก ,ตรวจสุขภาพ และทันตกรรม) จากเดิม 5 ศูนย์ ศูนย์สุขภาพเด็ก , สตรี , ศูนย์ตรวจสุขภาพ , ทันตกรรม ,สมองและระบบประสาท รวมเป็น 9 ศูนย์ หลังจากในปีนี้บริษัทมีการเปิดโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยในส่วนของ 5 ศูนย์ จะมี 2 ศูนย์ คือ จะมีการปรับปรุงพื้นที่อาคารของศูนย์สุขภาพเด็กและสตรี รวมทั้ง สมองและระบบประสาท ซึ่งทั้งหมดจะมีการปรับปรุงพื้นที่ในปีนี้ 

นอกจากนี้ เรายกระดับศูนย์โรคตา ด้วยการปรับปรุงพื้นที่อาคารเดิม ใช้งบลงทุนราว 50 ล้านบาท ในการปรับปรุงพื้นที่ 

เขา บอกต่อว่า การลงทุน 'โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา' ล่าสุดขั้นตอนอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ 'ผลกระทบสิ่งแวดล้อม' (EIA) คาดว่ากระบวนการแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างราวปลายปีนี้ จากแผนเดิมคาดว่าจะก่อสร้างกลางปีนี้ แต่เกิดปัญหาผู้ออกแบบเสียชีวิตทำให้ต้องเปลี่ยนผู้ออกแบบใหม่ ส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน แต่ปัจจุบันได้ผู้ออกแบบใหม่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี (2562-2564) และรับรู้รายได้ปี 2565  โดยแบ่งเป็น 2 อาคาร คือ โรงพยาบาลเงินลงทุน 600 ล้านบาท และอาคารดูแลผู้สูงอายุเงินลงทุน 200 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท 

และ 'ลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนที่มีผลกำไร' ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการให้บริษัทเข้าไปประเมินทรัพย์และประเมินมูลค่าทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าภายในไตรมาส 2 ปี 2560 จะได้ข้อสรุปและเจรจากัน เป็นโรงพยาบาลในแถบภาคตะวันออก (ชลบุรี, ระยอง ,จันทบุรี) โดยบริษัทจะเข้าไปถือหุ้นไม่เกิน 25% ใช้เงินลงทุนราว 250-300 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง จำนวนเตียงไม่เกิน 100 เตียง  โรงพยาบาลดังกล่าวมีผลประกอบการเป็นกำไร 

'เขาต้องการให้บริษัทเข้าไปเป็นพันธมิตร เนื่องจากต้องการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ฉะนั้น เขาอยากให้เราเข้าไปร่วมทุน ประกอบกับเป็นโรงพยาบาลที่มีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นด้วย จึงต้องการให้รพ.ลาดพร้าวไปเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเขาอยากจะได้ทั้งเงิน , พี่เลี้ยง และเข้าระดมทุน'

จากแผนการลงทุนคาดว่าจะทำให้ผลประกอบการโรงพยาบาลลาดพร้าวปี 2561 เพิ่มขึ้น 10-15% แต่ว่าในปีนี้มีกำไรพิเศษจากการขายที่ดินโรงเรียน 'ราว60 ล้านบาท' ฉะนั้น ผลประกอบการปีนี้น่าจะ 'นิวไฮ' ทั้งรายได้และกำไรสุทธิ 

สำหรับ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จํากัด (AMARC) ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และ วิจัยด้านอาหาร ผลิตผลการเกษตรและยา คาดว่าในปีนี้จะมีกำไรเพิ่มขึ้น และมีแผนจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดย AMARC อยู่ระหว่างการขยายการลงทุนเข้าไปเปิดสาขาใหม่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สถานที่รับตัวอย่าง และ ห้องแลป คาดว่าการที่มีสาขา 2 แห่ง จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 25% มีกำไรเพิ่มขึ้น 100%

และในปี 2562 ถ้าบริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นก็จะลงทุนขยายสาขาเพิ่มเติมทั้งในและประเทศ CLMV (กัมพูชา ,ลาว , พม่า ,เวียดนาม) ปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของ 4 ห้องแลป คือ 1.เกษตรอาหาร จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกษตรอาหารสด-แห้ง หรือ อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป 2.ยา 3.แลปแพทย์ เป็นแลปที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อหาสารก่อมะเร็งในชิ้นเนื้อ และ 4.แลปสอบเทียบ (ตรวจสอบเครื่องมือทางการแพทย์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่)