ด่วน! ไล่ออก 'รจนา สินที' ทุจริตกองทุนเสมาฯ

ด่วน! ไล่ออก 'รจนา สินที' ทุจริตกองทุนเสมาฯ

มติเอกฉันท์ ไล่ออก! "รจนา สินที" ซี8 ทุจริต 88 ล้านทุนกองเสมาฯ (คลิป)

ความคืบหน้ากรณีตรวจสอบการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ตั้งแต่ปี 2551-2561 จำนวน 88 ล้านบาท และล่าสุดพบว่ามีเงินหายไปอีกประมาณ 30 ล้านบาทในปี 2550,2551และ 2553 ซึ่งยังต้องไปตรวจสอบให้ชัดเจนว่าสูญหายเพราะมีการทุจริตทั้งหมดหรือไม่ รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทนั้น โดยมีผู้เกี่ยวข้องรวม 5 ราย โดย 4 รายอยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และอีก 1 รายคือ นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ (ซี8)สังกัดสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับสารภาพว่ายักยอกจริงโดยโอนเงินไปยังบัญชีญาติพี่น้องและพวก 22 บัญชีนั้น

วันนี้ (26 มี.ค.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัด ศธ. เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ (ซี8) สำนักกิจการการศึกษา กรณียักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ตั้งแต่ปี 2551-2561 จำนวน 88 ล้านบาท โดยใช้เวลาพิจารณานาน 2.30 น.ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง นางรจนา ไล่ออกจากราชการ หลังจากคณะกรรมการฯได้พิจารณาอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ การกระทำของ นางรจนา เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงใน 3 เรื่อง 1.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง 2.ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ3.ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82(2) มาตรา83(1)ประกอบมาตรา85(1)(4)และ(7)แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติครม. เกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่นร0205/ว234 วันที่ 24 ธันวาคม 2536

“คณะกรรมการอ.ก.พ.สป.ศธ. ทั้ง 7 คนมีมติเป็นเอกฉันท์ ลงโทษนางรจนา ไล่ออกจากราช เพราะถือเป็นความผิดขั้นวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งโทษไล่ออกจะไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งมติดังกล่าวถือว่ามีผลทันที และหากนางรจนา เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ส่วนขั้นตอนทางกฎหมาย ขณะนี้ทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง นางรจนา แล้ว ซึ่งหากมีการสั่งฟ้องนางรจนา ก็จะต้องไปให้การต่อศาล ขณะเดียวกันศธ.จะขยายผล สืบสวนข้อเท็จจริงเชื่อมโยงไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย” นายการุณ กล่าว