เสียงใสรุ่นจิ๋วอาสา สอนผู้สูงวัยร้องเพลง

เสียงใสรุ่นจิ๋วอาสา  สอนผู้สูงวัยร้องเพลง

สุขง่ายๆ ช่วงปิดเทอมเด็กกลุ่มนี้จะไปชวนผู้ใหญ่ร้องเพลง และสอนร้องให้ถูกจังหวะ

......................

“คุณยายผมก็มาร่วมฝึกร้องเพลงด้วย บางทีคุณยายก็ร้องเพี๊ยน ผมก็สอนคุณยายให้ร้องตามโน้ตเพลง”ดช.ผิงหยาง-ณัฐภัทร พิชยานนท์ วัย 11 ขวบที่เคยแข่งขันรายการ The Voice Kids Thailand และเคยได้รางวัลชนะเลิศจากการขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ กล่าวถึง เวิร์คชอปสอนคุณตาคุณยายร้องเพลงของกลุ่ม Retro Kids ที่พี-ประพฤติ ทองธานี ครูสอนร้องเพลงเจ้าของ The Journey Studio เป็นคนต้นคิด เพื่อให้เด็กทั้ง 9 คนที่เรียนร้องเพลงด้วย มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงวัย  เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาไปร้อง เล่น และทำกิจกรรมกับผู้สูงวัยมาบ้างแล้ว

-1-

เด็กๆ กลุ่มRetro Kids ส่วนใหญ่เรียนร้องเพลงอย่างถูกวิธี และเป็นนักร้องที่มีโอกาสแสดงในหลายเวที ทั้งเวทีประกวดร้องเพลงและการแสดงคอนเสิร์ต

หลังจากเวิร์คชอปหลายครั้ง พวกเขาก็จะเดินสายร้องเพลงให้ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ย่านบางปูฟัง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้โชว์การร้องเพลง และทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงวัย

 “เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กด้อยโอกาส มีโอกาสระดับหนึ่ง และมีความสามารถ จึงอยากให้เด็กๆ ทำกิจกรรมจิตอาสาแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง”

กิจกรรมที่ครูพีวางแนวทางไว้ นอกจากให้เด็กๆ ร้องเพลงร่วมสมัยกับผู้ใหญ่ ก็เพิ่มอีกส่วนสอนร้องเพลงให้ถูกจังหวะ ซึ่งเด็กๆ มีประสบการณ์ในการร้องเพลง แม้จะอยู่ในช่วงวัยซน ไม่น่าจะสอนผู้ใหญ่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก ครูพีทดลองให้คุณป้า คุณลุง คุณตา คุณยาย ญาติๆ ของเด็กๆ มาเป็นนักเรียนให้น้องๆ วัยใสสอนร้องเพลง

“การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผมทำมาตั้งแต่สมัยเรียน และทำด้วยใจรัก ผมเป็นครูสอนร้องเพลงตามที่ต่างๆ ก่อน จนมาเปิดสตูดิโอของตัวเอง จนได้มาร่วมงานมิวสิคแชร์ริ่ง และมีทุนจากสสส.อยากให้เด็กๆ และชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน เพราะเด็กๆวัย 8-12 ปีกลุ่มนี้ สามารถร้องเพลงได้ทุกแนว ตั้งแต่ร่วมสมัย ลูกกรุง ลูกทุ่ง บทเพลงพระราชนิพนธ์และไทยเดิม ซึ่งพอไปร้องให้ผู้สูงอายุฟัง พวกเขาก็มีความสุข แลกเปลี่ยนความคิดกันได้”

-2-

เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ตื่นเวที เคยทำกิจกรรมร้องเพลงกับผู้ใหญ่มาเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขา

“หนูชอบร้องเพลงลูกทุ่ง เวลาหนูเหนื่อยๆ เครียดๆ มาร้องเพลง หนูก็หายเครียด พอคุณครูคิดเรื่องสอนคุณตาคุณยายร้องเพลง หนูมีหน้าที่ช่วยแนะนำเรื่องการหายใจ การแสดงอารมณ์ และตำแหน่งช่องเสียงที่ใช้ร้อง” ด.ญ.อาโป-ปุณยนุช สวัสดี วัย 10 ปี เล่า

น้องอาโป เริ่มร้องเพลงตั้งแต่อายุ 5 ปี เคยเข้าประกวดในรายการไมค์ทองคำเด็ก ส่วนกิจกรรมร้องเพลงของกลุ่ม เธอจะเป็นจิตอาสาประสานงานคิวการร้องเพลงของเพื่อนๆ แต่ละคน

“เคยไปร้องเพลงให้คุณตาในโรงพยาบาลสมุทรปราการฟัง และสอนคุณตาร้องเพลงให้ถูกจังหวะ ถ้าถามว่า กิจกรรมแบบนี้ หนูเบื่อไหม... หนูไม่เบื่อนะ หนูได้แบ่งปันความสุข"

ครูพีรู้ดีว่า เด็กแต่ละคนมีความสามารถแบบไหน เขาจึงพยายามฝึกฝนให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาถนัด

“ผมพยายามให้เด็กๆ ดูแลตัวเอง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นจิตอาสาช่วยคนอื่นบ้าง และอยากให้พวกเขาทำงานรับผิดชอบตัวเอง ผมจึงแบ่งความรับชอบให้ทำ ทั้งฝ่ายประสานงาน บัญชี และออกแบบการแสดง ฯลฯ เราเคยทดลองให้เด็กๆ ทำงาน ตอนไปที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ นอกจากร้องเพลงให้ผู้ใหญ่ฟัง เด็กๆ ต้องรู้จักการเตรียมตัวและการจัดงาน โดยให้บริหารจัดการกันเอง”

เมื่อถามถึงเวิร์คชอปการสอนให้คุณตาคุณยายร้องเพลงที่ผ่านมา ด.ช.ผิงหยาง เล่าว่า การสอนให้ผู้ใหญ่ร้องเพลง ก็ยากเหมือนกัน บางทีก็ตื่นเต้น สอนผิด

“ผมจะสอนคุณตาเรื่องตำแหน่งเสียงแต่ละคำในการร้อง คุณตาเข้าใจครับ ต้องค่อยๆ สอน มีคุณตาคุณยายประมาณ 4-5 คนมาลองให้พวกเราสอน"

การเลือกเพลงให้เหมาะกับผู้สูงวัยแต่ละคน ครูพีบอกว่า ก็ให้ผู้ใหญ่มาช่วยเลือกเพลง มีทั้งเพลงรวม เพลงเดียวและเพลงคู่ โดยกิจกรรมที่วางไว้ในขั้นแรกจะไปร้องโชว์ให้ฟังก่อน แล้วต่อยอดไปจัดที่บ้านพักคนชรา เรื่องหลักๆ ที่สอนคือ การหายใจ การควบคุมเสียง จังหวะ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการเลือกเพลง

-3-

เวิร์คชอบที่ผ่านมา ทำให้พวกเขารู้ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เหนื่อยง่าย จึงต้องลดทอนบางอย่างในการเปล่งเสียง ซึ่งผู้สูงอายุก็สนุก และกระบวนการไม่ได้จบแค่สอนแล้วร้องเพลงได้

“ในเวิร์คชอปเรามีีพี่เลี้ยงช่วยประกบดูแล เราก็ดูว่า ถ้าเด็กๆ สอนแบบนี้ คุณยายเข้าใจไหม จะมีปัญหาก็เรื่องผู้สูงอายุเหนื่อยง่าย แม้จะสอนจนเข้าใจแล้ว แต่ทำได้ไม่เหมือนที่เราต้องการ เพราะเรื่องสุขภาพผู้สูงวัย การขึ้นเสียงสูงๆ ถ้าจังหวะเร็ว ก็ร้องไม่ทัน ”ครูพี กล่าว และช่วงปิดเทอมที่จะถึงนี้ วางแผนไว้ว่า การไปร้องเพลงให้คนสูงอายุฟัง เด็กทั้งเก้าคนควรร้องได้ทุกเพลง ถ้าใครไม่มา ก็ร้องแทนกันได้ เพราะปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องคิว บางคนเป็นศิลปินเด็กไม่ว่างมาในวันนั้น

“เด็กทุกคนในกลุ่มนี้ เรียนร้องเพลงมาแล้ว เด็กจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มเคยผ่านรายการทีวีแล้ว อย่างน้องผิงหยาง ผ่านเวทีเดอะวอยซ์ น้องมิ้น น้องนีโอเคยไปรายการWe kid thailandและน้องอาโป เคยออกรายการไมค์ทองคำ

เด็กน้องกลุ่มนี้เรียนร้องเพลงตั้งแต่ยังไม่ประกวดร้องเพลง เพราะเรามีกิจกรรมให้ทำอยู่เรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมได้เงินและไม่ได้เงิน จึีงมีการซ้อมด้วยกันตลอด เด็กๆ ก็เลยอยู่กับเรานาน และวิธีการสอนของผม ผมจะเลือกให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ผมจะสอนให้เด็กรู้จักจุดเด่นของตัวเอง การควบคุมสรีระในการร้องเพลง เมื่อเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะรู้ว่า เวลาจะเปล่งเสียงต้องใช้อวัยวะส่วนไหน สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการพูด การร้องเพลง และเรื่องอะไรก็ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องการควบคุมร่างกายส่วนต่างๆ ก็จะร้องเพลงได้ดี”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจที่สอนให้เด็กๆ รู้จักคำว่า การทำงานเพื่อสังคมและการเป็นจิตอาสา ครูพี เล่าถึงตัวเองว่า ตัวเขาเองเคยเป็นประธานนักเรียนตอนเรียนประถมปีที่ 5 เคยเป็นเยาวชนแห่งชาติ เพราะชอบทำกิจกรรม

"ผมจบวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็มาเป็นครูสอนร้องเพลง อาศัยว่าเคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย พอมาสอนเด็กๆ แล้วเห็นพัฒนาการที่ดีก็เลยทำงานสายนี้ต่อ ผมอยากให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะคุยกับผู้ใหญ่ เพราะเด็กๆ มักจะคุยกับผู้ใหญ่ไม่เป็น ผมไม่ได้คิดว่า เด็กๆ ต้องเป็นศิลปินร้องเพลงได้เงินอย่างเดียว ผมจึงหาโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้กับผู้สูงวัย ซึ่งเด็กกับผู้สูงอายุเป็นวัยที่อยู่ด้วยกัน น่าจะมีความสุข และไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันแบบนี้

นอกจากสอนร้องเพลง ผมก็สอนเรื่องทัศนคติที่มีต่องานด้วย เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นศิลปินในวงการบันเทิงรู้จักคำว่า ความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และเวลาทำงานแล้วเกิดความผิดพลาด ต้องทำใจยังไง รวมถึงสอนไม่ให้กลัว เพราะความกลัวทำให้บันทอนจิตใจ 

เพราะเราคาดหวังแค่ว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กมีโอกาสจะเติบโตเป็นเด็กที่ดี ไม่เบียดเบือนคนอื่น และเป็นคนที่สามารถพัฒนาบางอย่างได้ มีพลังดึงดูดทำให้คนอื่นๆ ทำสิ่งที่ดีเด็กที่เราสอน บางคนเป็นศิลปิน ถ้าวันหนึ่งพวกเขาลุกขึ้นมาทำแบบนี้ ก็จะเป็นความหวังของสังคม"