มติ สนช. เสียงเอกฉันท์ ผ่านกม.งบฯ 1.5แสนล้านบาท

มติ สนช. เสียงเอกฉันท์ ผ่านกม.งบฯ 1.5แสนล้านบาท

มติ สนช. เสียงเอกฉันท์ ผ่านกม.งบฯ 1.5แสนล้านบาท ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ-นโยบายด่วนรบ. ต้องกู้เพิ่มอีก แสนล้าน รมว.คลัง บอกไม่เป็นภาระ ด้าน สนช.-วิทยา แนะให้จ่ายเงินหัวละหมื่น

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.61 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ด้วยเสียงเอกฉันท์ 183 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ แต่งดออกเสียง 3 เสียงในส่วนของประธานสนช. และรองประธานสนช. ตามรายละเอียด คือ งบประมาณจำนวน 100,358,077,000 บาท ใน 4 ส่วน คือ 1.ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จำนวน 4,600 ล้านบาท, 2.แผนงานปฏิรูปยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 24,300,694,500 บาท , 3.แผนยุทธศาสตร์เสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 21,078,454,400 บาท และ 4. แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 50,378,928,100 บาท และยังมีส่วนที่จ่ายเงินคงคลัง จำนวน 49,641,923,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอขอเพื่อใช้ในนโยบายที่เร่งด่วนของรัฐบาล หลังจากใช้การพิจารณาเป็น 3 วาระรวด นาน 4ชั่วโมง 15 นาที

ทั้งนี้ ในวาระชี้แจงสาระของร่าง พ.ร.ป.งบฯ เพิ่มเติม นั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อทำนโยบายของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนของเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และภาคเกษตรกร โดยงบประมาณที่จัดสรรจะใช้เพื่อดูแล และเสริมสร้างศักยภาพชุมชน ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงด้วยว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้น แม้จะต้องใช้การกู้เงินเพิ่มเติมแต่ไม่เกินกรอบของการก่อหนี้สาธารณะภายในประเทศ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดสรรงบประมาณสู่ฐานรากจะรั่วไหลนั้น ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาคือใช้ระบบโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ หรือโอนเงินตรงไปยังประชาชนและชุมชนโดยไม่ผ่านคนกลาง ขณะที่งบเพื่อชดเชยเงินคลงคลังส่วนรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีไม่เพียงพอ และต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกปีนั้น ยืนยันว่าจะปรับระบบพยาบาลหรือจ่ายยาผ่านบัตรประชาชนเพื่อไม่ให้มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการเบิกจ่ายยาได้

งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้อยู่ วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ได้กู้เงินเพิ่มเพราะรายได้ของเรามีไม่ถึง ซึ่งต้องกู้เงินเพิ่มเติม 4.5แสนล้านบาท ส่วนการตั้งงบเพิ่มเติม วงเงิน 1.5แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีกแสนล้านบาททั้ง จะไม่เป็นภาระสักเท่าไร หากสนช. ผ่านร่างกฎหมายจะทำให้เรามีตัวเลขหนี้สาธารณะที่ 41 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งไม่เกินอัตราที่ 60 เปอร์เซ็นต์ นายอภิศักดิ์ ชี้แจง
ขณะที่ นายสุวพันธ์ ตันยุววรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่าการจัดเงินเพื่อใช้กองทุนหมู่บ้าน รอบที่3 จะใช้หลักเกณฑ์และแนวทางเดียวกัน คือ งบที่ใช้ในโครงการของหมู่บ้านต้องผ่านการทำประชาคมและเป็นความเห็นร่วมกันของชุมชน จะไม่สามารถใช้เพื่อปล่อยกู้หรือแจกของเป็นรายบุคคล รวมถึงต้องไม่มีการชี้นำจากบุคคลใด ทั้งนี้ในจ่ายกองทุนรอบแรก ปี 2559 ที่กำหนวงเงิน 3.5หมื่นล้านบาท จ่ายกองทุนให้หมู่บ้านละ 5แสนบาท, รอบสอง ปี 2560 วงเงิน 2.5หมื่นล้านบาท แจกให้หมู่บ้านละ 2 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการอภิปรายของ สนช. นั้นผู้อภิปรายสนับสนุน แต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น นายวิทยา ฉายสุวรรณ สนช. อภิปรายขอให้รัฐบาลปรับวิธีช่วยเหลือประชาชน คือ จัดสรรเงินให้ประชาชน คนละ 1หมื่นบาท เพราะปัญหาขณะนี้ประชาชนไม่ต้องการเบ็ดตกปลา แต่ต้องการปลาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ด้วยภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ประชาชนฐานรากจะตายกันอยู่แล้ว ส่วนเงินที่ต้องลงชุมชนโดยไม่มีค่าตอบแทนถือว่าเสียเวลาและไม่ได้อะไร

ด้านนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สนช. อภิปรายเสนอให้เน้นการรักษาเสถียรภาพที่ดี เช่น รายได้ของเกษตรกร , ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่มีกติกาแข่งขันที่เหมาะสม ขณะที่การส่งเสริมศักยภาพชุมชนต้องพัฒนาให้ทันเทคโนโลยี ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาควรกำหนดประเด็นที่ทำให้เกิดการต่อรองที่เหมาะสม.