อัยการขีดเส้น ผลสอบเพิ่ม 'เปรมชัย' ล่าเสือดำ 26 มี.ค.นี้

อัยการขีดเส้น ผลสอบเพิ่ม 'เปรมชัย' ล่าเสือดำ 26 มี.ค.นี้

อัยการสั่งสอบเพิ่ม 4 ประเด็น “เปรมชัย-พวก" ล่าเสือดำ ย้ำสำนวนไม่บกพร่อง แต่เน้นรอบคอบรัดกุมหากฟ้องศาลให้ฟังได้ทุกประเด็น หากสอบเพิ่มส่งไม่ทัน พร้อมตามติดทุก 7 วัน ยันไม่กดดัน คดีไม่หนักแค่ผตห.มีฐานะทางสังคม

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.61 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 และนายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 7 กาญจนบุรี หัวหน้าคณะทำงานอัยการคดีล่าเสือดำ พร้อมด้วยคณะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วย นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์, นายประยุทธ เพชรคุณ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดีล่าเสือดำที่นายเปรมชัย กรรณสูต อดีตประธานกรรมการบริหาร บ.อิตาเลียนไทยฯ, นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เรียมแสน และนายธานี ทุมมาศ เป็นผู้ต้องหาที่ 1-4 ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานฯ และอื่นๆ รวม 10 ข้อหา ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรไม่ฟ้อง 1 ข้อหาร่วมกันทารุณกรรมสัตว์ฯ
นายธรัมพ์ กล่าวว่า หลังจากอัยการพิจารณาสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมา 857 หน้าแล้วนั้น คณะทำงานอัยการได้มีความเห็นสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอีก 3-4 ประเด็น เพื่อให้การสอบสวนสมบูรณ์และสิ้นกระแสความ โดยอัยการมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการแล้ว พร้อมกำชับให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมกลับมาให้อัยการภายในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นช่วงครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 (25 มี.ค.) และแม้ว่าคดียังมีระยะเวลาฝากขังได้อีก 3 ผัด ประมาณกว่า 30 วัน แต่เราก็กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินการโดยรวดเร็ว ยืนยันว่าการสั่งคดีนี้ก็เหมือนการสั่งคดีปกติทั่วไป

ด้านนางสมศรี อธิบดีอัยการภาค 7 กล่าวว่า คดีนี้คณะทำงานได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า มีบางประเด็นที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนมาแล้ว แต่ยังไม่สิ้นกระแสความ ซึ่งอัยการเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญจึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็นเกี่ยวกับพฤติการณ์ และผลการตรวจพิสูจน์บางเรื่องที่พนักงานสอบสวนยังไม่ส่งมาประกอบสำนวน โดยอัยการก็แจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งเข้ามา

ทั้งนี้ อัยการไม่ขอแถลงลงรายละเอียดว่าเป็นประเด็นใดบ้าง เกี่ยวกับข้อหาใด เพราะจะกระทบต่อรูปคดี และการตั้งประเด็นสู้ของผู้ต้องหา “ถ้าพนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมแล้วตามที่ประเด็นที่ทางพนักงานอัยการสั่งไปแล้ว และก็ไม่มีประเด็นใดเพิ่มเติมจากผลการสอบสวนเพิ่มเติมอีก หรือนอกเหนือจากสำนวนที่มีอยู่ในมือแล้ว เราก็คงจะสั่งคดีได้ทันภายในกำหนด เพราะคณะทำงานของอัยการอ่านสำนวนทั้งหมดแล้วกว่า 800 หน้า จึงเป็นที่มาของการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม” นางสมศรี กล่าวและว่า การสั่งสอบสวนเพิ่มเติมเราได้ดูโดยรอบคอบ โดยเราประชุมกันเมื่อวาน (19 มี.ค.) ก่อนมีคำสั่ง คณะทำงานก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งพิจารณาแล้วว่าหากดำเนินการก็จะครบถ้วน เว้นแต่ถ้าพนักงานสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มเติมมาแล้วมีประเด็นใหม่เกิดขึ้นมาที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนการสอบสวนก็ยังไม่จบในทันที แต่ตอนนี้เท่าที่ดูสำนวน 857 หน้า เราเห็นว่ามีส่วนที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนครบถ้วนและสิ้นกระแสความ

อย่างไรก็ตาม ในการติดตามผลการสอบสวนเพิ่มเติม เราได้กำชับกับพนักงานสอบสวนแล้วว่าให้ส่งรายงานโดยเร็วภายใน 26 มี.ค.นี้ แต่หากดำเนินการไม่เสร็จสิ้นก็ให้รายงานผลทุก 7 วัน ซึ่งอัยการเราทำงานกันทุกวันทั้งเสาร์อาทิตย์ จะคอยติดตามคดีไม่ให้หยุดนิ่ง เพราะทั้งสื่อมวลชนและประชาชนก็เฝ้าคอยว่าอัยการจะมีคำสั่งคดีเมื่อใด ขณะเดียวกันเราก็ได้รายงานให้นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดทราบถึงความคืบหน้าต่างๆ ด้วย อธิบดีอัยการภาค 7 ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ต้องหาจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายใดยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา แต่หากยื่นเข้ามาก็ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งอัยการพร้อมทำงานทุกคดีอยู่แล้ว และจะต้องพิจารณาว่าเนื้อหาการร้องขอความเป็นธรรมมีอะไรบ้าง เป็นประเด็นที่มีอยู่ในสำนวนหรือไม่ หรือเป็นการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องให้สอบสวนเพิ่มเติมเลย ซึ่งบางครั้งการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาก็ไม่มีประเด็นความจำเป็นอะไร ก็ทำให้การทำงานของอัยการล่าช้า

สำหรับคดีนี้ไม่ใช่คดีใหญ่สำหรับพนักงานอัยการ เพราะคดีลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นทุกวัน คดีโทษไม่สูง แต่บังเอิญเกี่ยวกับฐานะทางสังคมของผู้ต้องหาเป็นผู้มีชื่อเสียง และประชาชนให้ความสนใจ ถามว่ากดดันหรือไม่ ไม่กดดันเพราะเราทำงานแบบนี้ทุกวัน เหมือนคดีลักวิ่งชิงปล้นฆ่า คดีหนีภาษี หรือคดีอื่นที่สำคัญก็มีมากมาย และการตั้งคณะทำงานก็ไม่ได้มีเฉพาะคดีของนายเปรมชัย คดีที่สำคัญอื่นก็มี ที่ตั้งก็เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โดยเราจะมีผู้กลั่นกรองลักษณะของคณะทำงานอย่างน้อย 3 คน จึงไม่ต้องกังวล เราจะทำคดีนี้ให้ดีที่สุด อัยการสูงสุดก็เคยโทรมาเรื่องราชการ เราก็เรียนท่านไปว่าตั้งคณะทำงานแล้ว และเมื่อมีคำสั่งจะตอบสังคมให้ได้ว่ามีคำสั่งอย่างไร

“การที่สังคมลงโทษก็เป็นโทษทางสังคมไป แต่เรื่องข้อกฎหมายอัยการต้องดูตามพยานหลักฐาน การสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็อยู่ที่พยานหลักฐาน ประชาชนที่ติดตามฟังข่าว ดูข่าว หรือการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อาจตัดสินไปแล้ว แต่ในสำนวนเป็นอย่างไรเราพิจารณาตามนั้น ถามว่าจะฝืนกระแสสังคมหรือไม่ ตอบได้ว่าจะพิจารณาตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมา” อธิบดีอัยการภาค 7 กล่าวชี้แจงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คดีในสื่อโซเชียล

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พูดถึงการสั่งไม่ฟ้องข้อหาทารุณกรรมสัตว์ นายประยุทธ รองโฆษกฯ กล่าวอธิบายว่า มันเป็นข้อกฎหมาย เป็นรายละเอียดทางคดี แต่ถ้าไปดูคำนิยามในกฎหมายจะบอกว่า สัตว์ที่จะเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์หมายถึงสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ดี ในส่วนของคดีนี้ อัยการยังไม่ได้ลงในรายละเอียด นายประยุทธ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการสั่งคดีของอัยการด้วยว่า เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา อธิบดีอัยการภาค 7 ก็ได้ตั้งคณะทำงานที่มีนายสมเจตน์เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อดูแลขั้นตอนการตรวจสำนวน เรียกว่าอัยการก็ตรวจสำนวน 857 หน้า จนสิ้นกระแสความ

แต่ก็มีข้อที่จะต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอยู่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจอัยการดำเนินการได้ในขณะที่ยังไม่มีความเห็นในการสั่งคดีว่าผิดถูกอย่างไร เพื่อให้สำนวนที่รวบรวมมีความสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องที่กฎหมายออกแบบไว้ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดพลาดบกพร่องของหน่วยงานไหน เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้สำนวนละเอียดรอบคอบรัดกุมที่สุด ให้ได้พยานหลักฐานครบถ้วนที่สุด และหากการสอบสวนเพิ่มเติมที่ส่งกลับมาไม่มีประเด็นปลีกย่อยแปลกแยกอีก คณะทำงานจึงจะมาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่ามีความเห็นอย่างไรเสนอต่ออธิบดีอัยการฯ ดังนั้นขณะนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะสั่งฟ้องไม่ฟ้องอย่างไร เพราะเป็นการก้าวล่วงในขั้นตอนที่ยังดำเนินการไม่ถึง จึงอยากให้สังคมเข้าใจถึงขั้นตอนดังกล่าวด้วย และหากมีคำสั่งคดีแล้ว ก็จะแถลงให้ทราบต่อไป

ส่วนนายสมเจตน์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 7 กาญจนบุรี กล่าวย้ำถึงประเด็นการสอบสวนเพิ่มเติมว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีปกติธรรมดาคดีหนึ่ง เราก็คำนึงถึงหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นผู้นำคดีเข้าสู่ศาล ที่จะต้องนำพยานหลักฐานข้อเท็จจริงไปแสดงให้ศาลรับฟัง ก็ต้องดูว่าพยานหลักฐานข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายแล้ว จะทำให้เห็นว่าคนที่เราฟ้องไปทำผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นวิธีการทำงานของอัยการจึงอาจแตกต่างกับพนักงานสอบสวนที่จะต้องละเอียดทุกอย่าง ว่าจะแสดงพยานหลักฐานอย่างไรแล้วศาลจะฟังและคิดเหมือนเรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทั้ง 10 ข้อหาที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณามีดังนี้ 1.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3.ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4.ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย 6.ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
7.ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 8.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 9.ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืน ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุอันสมควร 10.ร่วมกันกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ในข้อนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง สำหรับคณะทำงานที่ร่วมกันพิจาณาดำเนินคดีนี้ ประกอบด้วย นายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 7 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, นายทนง ตะภา อัยการจังหวัดทองผาภูมิ คณะทำงาน, พ.ต.ท.อำนาจ สุจริตชัย รองอัยการจังหวัดกาญจนบุรี คณะทำงาน และนายกฤษฎา ชูโต รองอัยการจังหวัดทองผาภูมิ คณะทำงานและเลขานุการ