หมึกพิมพ์กินได้ นำร่องดีไซน์สปรินต์

หมึกพิมพ์กินได้  นำร่องดีไซน์สปรินต์

หลอดไฟอัจฉริยะตรวจจับควัน น้ำหมึกกินได้ ถังขยะรีไซเคิลเศษอาหารกลายเป็นปุ๋ย ตัวอย่างนวัตกรรมต้นแบบจากโครงการ DesignSprint โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ “เคเอ็กซ์ มจธ.” ตั้งเป้ากิจการนำร่องปีแรก 60 ราย

หลอดไฟอัจฉริยะตรวจจับควัน น้ำหมึกกินได้ ถังขยะรีไซเคิลเศษอาหารกลายเป็นปุ๋ย ตัวอย่างนวัตกรรมต้นแบบจากโครงการ DesignSprint โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ “เคเอ็กซ์ มจธ.” ตั้งเป้ากิจการนำร่องปีแรก 60 ราย

“ผลการตอบรับจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรุ่นแรกดีมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปทดลองใช้งานจริงในรูปแบบการระดมสมองแลกเปลี่ยนไอเดีย ขณะที่กลุ่มผู้ที่เข้าร่วมมีความหลากหลายทั้งอายุ อาชีพและมีจุดประสงค์ที่เข้ามาร่วมแตกต่างกัน บางคนมีแค่ไอเดีย บางคนมีต้นแบบผลิตภัณฑ์มาแล้ว บางคนต้องการความรู้ในการจดสิทธิบัตร ฯลฯ ทำให้เกิดการแลก เปลี่ยนมุมมองความรู้ที่หลากหลาย” วรรณวิสา สะอาดเอี่ยม นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่
กล่าว

น้ำหมึกกินได้

พัชรินทร์ เสถียรจริยวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท คอมพิวท์แอนด์ไฟท์เตอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Design Sprint รุ่นแรกกล่าวในฐานะผู้บริหารที่มองหาโอกาสการทำธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมจากธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตน้ำหมึกพิมพ์เอกสารกำลังได้รับผลกระทบ จากการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้บริการพิมพ์งานน้อยลงเรื่อยๆ จึงคิดค้นและพัฒนาหมึกพิมพ์กินได้ขึ้น มา เพื่อขยายไปยังตลาดอาหารโดยเฉพาะกลุ่มเบเกอรี่

หลังจากที่เข้าร่วมโครงการและทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ พบว่า นอกจากธุรกิจเบเกอรี่แล้ว ตลาดอีเว้นท์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีศักยภาพใน การกระจายสินค้าและขยายฐานลูกค้ารวมทั้งแนวทางการต่อยอดในการผลิตเป็นสีสำหรับเด็กซึ่งปัจจุบันผลิตจากสารเคมี จึงเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการนำเทคนิคการระดมสมองเข้าไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)โดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ต้องการสร้างอีโคซิสเต็มให้ผู้ประกอบการเข้ามาค้นหา นำเสนอไอเดีย แลกเปลี่ยนความรู้และสร้าง “เครือข่ายธุรกิจนวัตกรรม” ภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นกิจกรรมในโครงการ Design Sprint ที่ส่งเสริมการใช้พื้นที่ร่วมเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ (Co-Making Space) ที่อาคารเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

โครงการใช้งบเบื้องต้น3ล้านบาทในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบจนถึงทดลองใช้งานเป็นระยะเวลา5 วันแต่ละทีมจะมีจำนวนสมาชิก 2-3 คน ตั้งเป้าปีนี้จะมีทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นละ 15 ทีม ในการคิดค้นและพัฒนาสินค้า-บริการนวัตกรรม 60 รายการ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อนที่จะขยายผลสู่ระดับภูมิภาคในปีหน้า

“ผลงานออกมาดีเกินกว่าคาดหมาย เนื่องจากผู้ที่ถูกคัดเลือกเข้ามามีความมุ่งมั่นในการเพิ่มศักยภาพและเปิดกว้างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ ที่นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดธุรกิจ ประกอบกับบรรยากาศของเคเอ็กซ์มีผลต่อการเรียนรู้ รวมถึงการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัย เทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนในการต่อยอด” วรรณวิสา กล่าวและว่า ในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อาทิ สถาบันไฟฟ้า เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

พื้นที่ต้นแบบนวัตกรรม

วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง ผู้จัดการเคเอ็กซ์ (Knowledge XChanger : KX) กล่าวว่า โครงการในปีแรกจะมีผลิตภัณฑ์และบริการ 60 รายการ คาดว่า 20 รายการพร้อมที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์และอีก 10 รายการจะมีต้นแบบผลิตภัณฑ์ออกมานำเสนอ ยกตัวอย่าง หลอดไฟอัจฉริยะที่รวมเครื่องตรวจจับควัน และการให้ความสว่างไว้ในหลอดไฟ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบให้สวยงาม และในอนาคตสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นหลอดไฟที่ปิดเปิดเองได้โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ผลงานต่อมา “น้ำหมึกกินได้” เป็นการพัฒนาน้ำหมึกที่นำมาใช้ผลิตอาหาร โดยใช้ไบโอเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างธุรกิจ ใหม่ในอนาคต หรือ “ถังขยะรีไซเคิลเศษอาหารเป็นปุ๋ย” เพื่อแก้ปัญหาการคัดแยกขยะเปียกที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นต้น

“ข้อดีของโครงการนี้ คือความหลากหลายของผู้ที่เข้าร่วมทำให้เกิดการเปิดใจรับฟังปัญหาและช่วยกันแก้ไขเพื่อเกิดนวัตกรรมขึ้นมา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแย่งไอเดีย ลูกค้ากีดกัน เพราะตลาดใหญ่พอสำหรับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำอะไรและจับลูกค้ากลุ่มไหนหมดยุคเถ้าแก่ แบบเดิมๆ ที่หวงความรู้ ไม่เปิดใจที่รับฟังความคิดเห็นคนอื่นอีกต่อไป” วรรณภพ กล่าว