‘ไบเออร์’รับมือสูงวัย ทุ่มงบพัฒนายาใหม่

‘ไบเออร์’รับมือสูงวัย ทุ่มงบพัฒนายาใหม่

เมกะเทรนด์ด้านสุขภาพและสังคมสูงวัยส่งให้ “ไบเออร์ ฟาร์มาซูติคอล” ทุ่มเม็ดเงินวิจัยและพัฒนากว่า 1.1 แสนล้านบาท เดินหน้าวิจัยยาตอบโจทย์ Unmet Need และการแพทย์เพื่อการป้องกัน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งในกลุ่มผู้สูงอายุ

งบวิจัยด้านฟาร์มาซูติคัลถึง 1.1 แสนล้านบาท ทำให้มีกว่า 50 โครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่ในช่วงทดสอบทางคลินิกเฟส 1-3 ที่จะตอบโจทย์ความต้องการในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและมะเร็ง ขณะที่อีก 6 โครงการอยู่ในการทดสอบขั้นสุดท้ายและมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่พบมากในกลุ่มประชากรเอเชียแปซิฟิก ทั้งมะเร็ง เบาหวาน โรคไต ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังและเนื้องอกมดลูก

คลาวส์ ซีเลอร์ รองประธานกรรมการอาวุโสและหัวหน้าส่วนปฏิบัติการการค้ากลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคัล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไบเออร์ กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 7 สำหรับกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับสูง โดยปี 2560 เติบโตสูงถึง 8.5% จากปี 2559

5 ตลาดหลักของเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของปี 2560 ได้แก่ ออสเตรเลียและเกาหลีเติบโต 10% จีน 14% ไต้หวัน 16% และ 11% สำหรับประเทศไทย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวสร้างรายได้หลัก คือ ยาที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง หลอดเลือดสมองและโรคตาที่เกี่ยวข้องกับความชราและโรคเบาหวาน

หนึ่งในนั้นคือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานกลุ่มใหม่ ที่มีการพัฒนาเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จากการมีลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมองที่เกิดจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว คาดการณ์ว่า ในปี 2593 จะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 72 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนั้น 2.9 ล้านคนจะมีสาเหตุจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว ซึ่งรูปแบบการรักษาก็เปลี่ยนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการแพทย์เพื่อการป้องกัน (Protective Medicine) มากยิ่งขึ้น

"เพราะวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจ ฉะนั้น เม็ดเงินที่ลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาของไบเออร์จึงสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนวิจัยในกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคัลถึง 64% หรือราว 1.1 แสนล้านบาท สำหรับตอบความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่มุ่งไปที่ประชากรสูงอายุในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งทิศทางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของไบเออร์ก็จะเดินไปในแนวทางนั้น"

นายแพทย์ ชวน คิท ฟู หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ กลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคัล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุมากกว่า 87% ของโรคที่พบในผู้สูงอายุคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งรวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรโลก และกว่าครึ่งในนั้นเป็นคนเอเชีย ถัดมาคือโรคมะเร็ง โดยมากกว่า 50% ของผู้ป่วยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งมีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในเอเชียจะเพิ่มเป็น 10.6 ล้านคนในปี 2573

ในขณะเดียวกันก็มีการทดสอบทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 21 โครงการในปี 2550 เป็น 53 โครงการในปี 2560 โดย 22 โครงการทำขึ้นในสิงคโปร์ และมีพันธมิตรที่จับมือกันวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี 2561 กลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคัลเชื่อว่า จะเป็นไปในทางบวกคาดว่าจะเติบโต 4.1% และเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2564 จากความต้องการทางการแพทย์ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยุคของคนสูงวัย และความท้าทายที่เป็นความต้องการซ่อนเร้นทางการแพทย์