10หน่วยงานเห็นพ้อง ออกพรก.คุมเงินดิจิทัล

10หน่วยงานเห็นพ้อง ออกพรก.คุมเงินดิจิทัล

“วิษณุ” เรียก 10 หน่วยงานถกด่วนออกกฎหมายคุมเงินดิจิทัล สกัดฟอกเงิน อาชญากรข้ามชาติ คาดออกเป็นพระราชกำหนด

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียก 10 หน่วยงานหารือด่วนเรื่องการออกฏหมายเพื่อควบคุมเงินดิจิทัลและคริปโตเคอเรนซี่ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆกว่า 10 หน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกฤษฏีกา เป็นต้น

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเข้าไปควบคุมและกำกับดูแลในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลและคริปโตเคอเรนซี่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยจะใช้กฎหมายปกติในการป้องกัน แต่จะไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวโน้มของกฎหมายปกติที่จะออกมาและที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือการออกพรก. แต่ยังไม่สามารถที่จะระบุได้ชัดเจนว่าจะออกมาได้เมื่อไหร่ เพราะต้องดูให้มีความรอบครอบก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้มีหน่วยงานที่ทำร่างกฎหมายมาเสนอให้พิจารณาแล้ว แต่ยังเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์จึงให้ไปปรับปรุงเพื่อมานำเสนออีกครั้ง

อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่างกฎหมายที่จะออกมาควบคุมเงินดิจิทัล รวมทั้งคริปโตเคอเรนซี่ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อยคือยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการออกมาครอบคลุมขนาดไหน เนื่องจากเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก และการหารือกับหน่วยงานต่างๆพบว่าในส่วนของความหมายและนิยามของคริปโตเคอเรนซี่ของบางหน่วยงานยังไม่ตรงกัน ซึ่งการที่กำหนดความหมายหรือแปลความไม่ตรงกันก็อาจทำให้มีผลต่อการบังคับใช้เพราะอาจทำให้บางเรื่องที่ไม่ควรถูกควบคุมก็ไปถูกควบคุม บางเรื่องที่ควรถูกควบคุมก็อาจหลุดออกจากขอบเขตที่จะควบคุมไปจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

“ที่ผ่านมารัฐบาลศึกษาแล้วว่าเรื่องนี้เป็นช่องทางที่นำไปสู่การฟอกเงิน อาชญากรข้ามชาติ และมีความเสี่ยงในระดับที่สูงที่ต้องควบคุมเพราะหากเกิดความเสียหายเมื่อเข้าไปในระบบแล้วเข้าไปจับตัวผู้กระทำผิดได้ยาก จึงต้องหาทางป้องกันและเมื่อออกมาแล้วก็ต้องพยายามให้มีความครอบคลุมทั้งหมดที่เป็นเรื่องใหม่ๆ ในต่างประเทศ เท่าที่ดูก็มี 2 แบบคือในแบบที่ปล่อยให้มีการลงทุนไม่ได้ห้ามเลย กับที่มีการควบคุม โดยเราเลือกที่จะควบคุม เช่นให้มาขึ้นทะเบียน ขออนุญาตก่อน แต่ทางที่ดีประชาชนก็อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเท่ากับหาเรื่องเจ๊ง ไม่ว่าจะต้องนี้ที่ยังไมีมีกฏหมายควบคุม หรือตอนที่มีกฏหมายควบคุมแล้วก็ตาม” นายวิษณุ กล่าว