กสทช.ถอยประมูล4จีย่าน900-1800

กสทช.ถอยประมูล4จีย่าน900-1800

กสทช.พับแผนประมูล 4จีทั้งย่าน 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ชี้ยังไม่ได้คำตอบจากกฤษฏีกาเกี่ยวกับอำนาจบอร์ดรักษาการณ์ทำได้หรือไม่ พร้อมชะลอประมูลเน็ตประชารัฐ 15,732 หมู่บ้าน หลังบอร์ดดีอีมีมติให้กระทรวงดีอีดำเนินการเอง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานกสทช.ได้ทำหนังสือขอความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เกี่ยวกับอำนาของกรรมการกสทช. ที่อยู่ระหว่างการการรักษาการณ์ ว่าจะมีอำนาจในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นของกฤษฏีกาตอบกลับมา สำนักงานกสทช.จึงเห็นควร ให้ชะลอการประกาศหลักเกณฑ์ ในการประมูลคลื่นความถี่ในราชกิจการนุเบกษาออกไป จนกว่าจะได้รับคำตอบจากกฤษฏีกา ทั้งนี้ หากการสรรหากรรมการกสทช.ชุดใหม่เสร็จสิ้นภายในเดือนเม.ย.นี้ และมีกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดการประมูลคลื่นกสทช.แทน

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดกสทช.เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐจำนวน 24,700 หมู่บ้านในช่วงเดือน ม.ค. 2560 – ก.ย. 2561 มาดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงให้ครอบคลุมพื้นที่โซน ซีที่เหลือ จำนวน 15,732 หมู่บ้าน แทนสำนักงาน กสทช. โดยมอบหมายให้บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการดีอีดังกล่าว 

ดังนั้น ที่ประชุม กสทช. จึงมีมติเห็นชอบอนุมัติให้สำนักงาน กสทช. ชะลอแผนการจัดการประกวดราคาโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 15,732 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้วจึงนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้ง ให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (แผนยูโซ่) เพื่อใช้จ่ายครอบคลุมพื้นที่โซน ซี ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 5 ปีด้วย

“กระทรวงดีอีให้ทีโอทีทำเอง เราก็จัดสรรงบที่เหลือจากการติดตั้งโครงการในระยะแรกจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่มีงบประมาณเหลือ 2,655 ล้านบาท มาดำเนินการ โดยกระทรวงดีอีจะใช้งบประมาณจากเงินที่เหลือ 2,440 ล้านบาท ไปทำการติดตั้งระหว่างเดือนมี.ค.-ธ.ค.2561”เลขาธิการกสทช.ระบุ

เขา กล่าวอีกว่า บอร์ดกสทช.ยังได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่ผ่านบอร์ดดีอีแล้วจำนวน 3,820 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 2,075 ล้านบาท และงบลงทุนเดิม 1,744 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดกรอบวงเงินงบการลงทุนใหม่ เนื่องจากบอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันอยู่ระหว่างการรักษาการณ์ และเห็นว่าการปรับโรงสร้างใหม่ควรเป็นอำนาจของบอร์ดกสทช.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาจึงจะเหมาะสมกว่า