ศาลมีนบุรีติด 'กำไลข้อเท้า EM' ผู้ต้องหารายแรก

ศาลมีนบุรีติด 'กำไลข้อเท้า EM' ผู้ต้องหารายแรก

ประเดิมรายแรก! ศาลยุติธรรม เริ่มใช้ศาลนำร่อง 23 ศาล มี.ค.นี้ ศาลมีนฯ จัดก่อนเคสฝากขังผตห.ครอบครอง-เสพยา หลักทรัพย์ประกันไม่พอ ได้ติดกำไล EM แทน

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.61 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดมีนบุรี ได้สั่งติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ EM เป็นรายแรกแก่ ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในชั้นฝากขัง ฐานความผิดมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ วางหลักประกันเป็นเงินสด 10,000 บาท พร้อมติด EM

ซึ่งกำไล EM เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของศาลยุติธรรม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

"นายสราวุธ" กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำศูนย์ควบคุม EM ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคล สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่และส่งข้อมูลพิกัดของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวด้วยการแจ้งเตือนแบบ Real-time ไปยังศูนย์ควบคุม เมื่อเกิดเหตุกับอุปกรณ์ เช่น มีการทุบ ทำลาย ตัด หรือถอดอุปกรณ์โดยไม่ได้รับการอนุญาต เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสาเหตุของการเกิดสัญญาณ จากนั้นจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของศาลเพื่อเสนอผู้พิพากษาพิจารณาเพื่อยกเลิกคำสั่งการปล่อยชั่วคราว และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยติดกำไลข้อเท้า EM รายแรกนี้ เป็นผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวน ได้ยื่นคำร้องฝากขังฐานมียาบ้าไว้ในครอบครองและเสพยาบ้า และข้อหาอื่น ซึ่งญาติไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอยื่นประกันชั้นฝากขัง จึงเข้าสู่โครงการใช้กำไล EM

โดยการใช้อุปกรณ์ EM หรือกำไลข้อเท้า มาใช้แทนการวางเงินประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราวหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ หรือพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง นั้นจะเป็นดุลยพินิจศาลว่าจะใช้ กำไลข้อเท้าควบคุมหรือไม่ ซึ่งกำไลข้อเท้า EM ขณะนี้มีจำนวน 5 ,000 เครื่องก็จะเริ่มใช้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา วันที่ 1 มี.ค.นี้ กับศาลนำร่อง 23 ศาลทั่วประเทศ

ประกอบด้วย ศาลอาญา 600 เครื่อง , ศาลจังหวัดมีนบุรี 600 เครื่อง , ศาลอาญากรุงเทพใต้ 300 เครื่อง , ศาลอาญาธนบุรี 300 เครื่อง , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 50 เครื่อง และ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 (จ.สระบุรี) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ( จ.สุรินทร์) ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 (จ.ขอนแก่น) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ( จ.เชียงใหม่) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ( จ.พิษณุโลก) ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 ( จ.นครศรีธรรมราช) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ( จ.สงขลา) อีกศาลแห่งละ 50 เครื่อง , ศาลจังหวัดจันทบุรี 300 เครื่อง ,ศาลจังหวัดพัทยา 200 เครื่อง, ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ 200 เครื่อง, ศาลจังหวัดขอนแก่น 200 เครื่อง , ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดพิษณุโลก 200 เครื่อง ,ศาลจังหวัดนครปฐม 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี 300 เครื่อง และ ศาลจังหวัดสงขลา 300 เครื่อง

ทั้งนี้ ตัวกำไลข้อเท้า EM ได้ติดระบบนำทาง GPS ไว้ด้วย ซึ่งตัวกำไลน้ำหนักเบา 230 กรัม ก็จะถูกสวมที่ข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลย ตลอดเวลาเพื่อใช้กำหนดพื้นที่การเดินทาง ความเคลื่อนไหวและพื้นที่ต้องห้าม รวมทั้งสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ซึ่งหากมีการกระทำผิดเงื่อนไข เช่น ออกนอกพื้น มีการทำลายกำไลข้อเท้าฯลฯ เครื่องจะแสดงสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยชั่วคราวโดยมีเจ้าหน้าที่ ประจำศูนย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผลัดละ 8 คนๆละ 8 ชั่วโมง รายงานต่อผู้พิพากษาเวร แต่ละศาลเพื่อพิจารณาออกหมายจับ ผู้ต้องหาหรือจำเลยทันที โดยกำไลข้อเท้า EM นี้ในปีแรกศาลยุติธรรมจะเริ่มใช้ จำนวน 5,000 เครื่อง ซึ่งงบประมาณทั้งหมดในการดำเนินการประมาณ 80,880,000 บาท