โวย!! ลิสซิ่งรายใหญ่จับลูกหนี้ทำสัญญาเลี่ยงกม.

โวย!! ลิสซิ่งรายใหญ่จับลูกหนี้ทำสัญญาเลี่ยงกม.

โวย!! ลิสซิ่งเช่าซื้อรถรายใหญ่ จับลูกหนี้ทำสัญญาเลี่ยงกฎหมายโขกดอกเบี้ย –ค่าธรรมเนียมสูงลิ่ว ก่อนส่งคนไล่ตามยึดรถขายทอดตลาด

หลังจากที่กระทรวงการคลังเตรียมล้อมคอกธุรกิจปล่อยเงินกู้ เช่าซื้อและจํานําทะเบียนรถที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือ "นอนแบงก์" โดยเตรียมยกร่าง พรบ. การกำกับดูแลสถาบันการเงิน (นอกการกำกับธปท.) โดยจะจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นทำกับดูแลโดยตรงส่งผลให้ผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ และเช่าซื้อรถรายใหญ่เคลื่อนไหวกันคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากลูกหนี้ที่ได้ทำสัญญาเช่ารถกับบริษัทลิสซิ่งรายใหญ่ ที่ให้บริการเช่าซื้อรถและจักรยานยนต์ครบวงจร มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศนับพันสาขา พบว่า สัญญาเช่าซื้อที่บริษัทอ้างว่าดำเนินการถูกกฎหมาย และไม่หวั่นว่ากฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทนั้น แท้ที่จริงสัญญาที่ทำกับลูกหนี้ มีทั้งที่ดำเนินการเช่าซื้อปกติ และจัดทำเป็นสัญญาเงินกู้ยืมที่มีการกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายบังคับให้ลูกหนี้ต้องนำสินทรัพย์รถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยบังคับให้ลูกหนี้เซ็นโอนลอยกรรมสิทธิ์เอาไว้

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ให้บริการเงินด่วน ประเภทจำนำทะเบียนรถที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับธปท.ที่มีการปล่อยกู้ในลักษณะที่บังคับเอาสินทรัพย์ค้ำประกันเอาจากลูกหนี้ จากการตรวจสอบสัญญาที่จัดทำกับลูกหนี้พบว่าล้วนหลบเลี่ยงไปจัดทำเป็นสัญญาเงินกู้ยืมแบบมีหลักประกัน กำหนดให้ลูกหนี้ต้องนำสินทรัพย์รถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเป็นหลักประกัน มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมประกาศบนเว็ปไซต์สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมแล้วตั้งแต่ 20-50%

"การจัดทำสัญญาในลักษณะนี้ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อรถปกติตามกฎหมายลิสซิ่ง ซึ่งต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กำหนดตารางเงินก่อนเช่าซื้อ แต่ถือเป็นสัญญาเงินกู้ยืมแบบมีหลักประกันที่ต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอยู่ในบังคับพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา แต่ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้มีการจับลูกหนี้มาทำสัญญาในลักษณะนี้กันเอิกเกริกโดยไม่มีหน่วยงานใดกล้าเข้ามาแตะต้อง ทุกฝ่ายจึง คาดหวังว่ากระทรวงการคลังจะเข้ามารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพควบคุมดูแลธุรกิจเหล่านี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน"

ทั้งนี้ การที่ธุรกิจเหล่านี้หลบเลี่ยงการทำสัญญาเช่าซื้อ แต่หันไปทำเป็นสัญญาเงินกู้ยืมแล้วบังคับให้ลูกหนี้เซ็นโอนลอยรถ-จักรยานยนต์เอาไว้แทนน้ัน ยังทำให้รัฐและกระทรวงเสียหาย เพราะไม่มีการเรียกเก็บภาษีแวตจากค่างวดรายเดือน ซึ่งหากคิดจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อในระบบ 100,000 ล้าน กระทรวงการคลังจะขาดรายนี้จากค่าธรรเนียมเช่าซื้อจดจำนองนี้ปีละพันล้านบาท

รายงานข่าว เผยว่าในสัปดาห์หน้าเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากธุรกิจปล่อยเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) จะเข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ดีเอสไอและศูนย์ดำรงธรรมเข้ามาดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับบรรดาธุรกิจปล่อยเงินกู้ ลิสซิ่งเช่า-ซื้อและจำนำทะเบียนทั้งหลายที่มีการจัดทำสัญญาเงินกู้ขัดกฎหมาย กำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ สูงเกินจริง บางรายนั้นเป็นบริษัทลูกของธนาคารชั้นนำของประเทศโดยตรงแต่มีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินธุรกิจปล่อยกู้อย่างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน