‘ทีเซลส์’เร่งโต สตาร์ทอัพดีพเทค

 ‘ทีเซลส์’เร่งโต สตาร์ทอัพดีพเทค

“เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี” สตาร์ทอัพสายการแพทย์ใช้เทคโนโลยีประเมินระบบประสาท ทำหน้าที่เสมือนผู้ป่วยแพทย์และนักกายภาพบำบัดดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เล็งทดสอบทางคลินิกปลายปีนี้จากนั้นอีก 5 ปี พร้อมใช้งานจริง ผ่านการแข่งขันเป็น 1 ใน 2 ทีม

ที่จะได้รับทุนสนับสนุนในโครงการ Thailand Startup for life Sciences

โครงการนี้มุ่งเฟ้นหาผู้ประกอบการใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าบ่มเพาะเสริมศักยภาพ และรองรับการแข่งขันในตลาดสากลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ ร่วมกับ บริษัท เอ็กซ์พารา (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการบ่มเพาะและการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนและเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ

 เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิต

ข้อมูลจากศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช ระบุสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในไทย พบผู้ป่วยประมาณ 1,880 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือคิดเป็น 2% โดยประมาณ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเพศหญิง รองจากอุบัติเหตุและมะเร็ง จึงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะพบโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 “เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี” บริษัทสตาร์ทอัพโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่จากการรวมตัวของวิศวกรระบบและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สนใจด้านสุขภาพ ได้ทำการวิจัยพัฒนาร่วมกับ Brain-Computer Interface Lab (BCI LAB) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ให้สามารถติดตามการทำงานของสมองหลังรับการรักษาหรือบำบัด ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกับครอบครัว ผู้ดูแล หรือแพทย์และนักกายภาพบำบัดได้

บริษัทประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการตรวจประเมินระบบประสาท (QEEG) มาช่วยในการตรวจสอบการทำงานของสมอง ที่จะช่วยในการวิเคราะห์การรักษาและโปรแกรมการบำบัดที่เหมาะสม ทั้งพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารผ่านคลื่นสมอง โดยติดอุปกรณ์ไว้ที่หลังหู ระบบจะจับสัญญาณสมองจากสายตาที่มองไปยังคำหรือประโยคในโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นผ่านบลูทูธ ก็จะเกิดเป็นเสียงพูดบอกถ้อยคำหรือประโยคที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร

ปัจจุบันเป็นการพัฒนาในเฟสที่ 2 เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับสร้างฐานข้อมูลสำหรับโปรแกรมเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning Program) และในช่วง 6 เดือนจากนี้จะพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิค โดยตั้งเป้าพร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์ในปี 2566 มีกลุ่มเป้าหมายคือ ศูนย์กายภาพบำบัด โรงพยาบาลและโรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ และสถานดูแลผู้สูงวัย