คาดแนวโน้มค่าบาท 'แข็งค่า' รับศก.แข็งแกร่งทั่วโลก

คาดแนวโน้มค่าบาท 'แข็งค่า' รับศก.แข็งแกร่งทั่วโลก

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.28 บาทต่อดอลลาร์" ระวังช่วงสั้นดอลลาร์อ่อนค่าจากปัญหาการเมืองสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.28 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อน

เรามองว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งทั่วโลก เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดการเงินกล้าระบความเสี่ยงมากขึ้นแม้ความผันผวนจะไม่ปรับลดลง แต่ในช่วงสั้นอาจต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ที่อาจอ่อนค่าต่อเนื่องจากมีปัญหาการเมือง นอกจากนี้การที่นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นในปีที่เศรษฐกิจดี ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินทั่วเอเชีย มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ต่อไป

เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ค่าเงินดอลลาร์จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อเทียบกับเงินบาทในสัปดาห์เพราะตัวเลขจีดีพีที่แข็งแกร่งและการส่งออกเพียงเติบโตจะเป็นสองปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทยังคงดูปลอดภัยในสายตานักลงทุน

กรอบเงินบาทรายวัน 31.23- 31.33 บาท/ดอลลาร์ กรอบเงินบสมรายสัปดาห์ 31.15 - 31.65 บาท/ดอลลาร์

สัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ จีดีพีไทย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยุโรป รายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่น

วันจันทร์ รายงานตัวเลขจีดีพีของประเทศไทย คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยในปี 2017 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.0% ถือเป็นการฟื้นตัวแข็งแกร่ง และน่าจะเป็นแรงส่งให้นักธุรกิจมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นในปีนี้

วันพุธ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในยุโรปคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 58.5จุดเท่าครั้งก่อน ชี้ว่าเศรษฐกิจฝั่งยุโรปยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด

วันพุธ จะมีการรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลาดจับตาไปที่การอธิบายคำว่า “เพิ่มเติม” ซึ่งอาจตีความได้ถึงการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าสามครั้งในปีนี้

วันศุกร์ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่น มองว่าจะขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากราคาไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อดังกล่าว ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สามารถสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นจำเป็นต้องลดปริมาณการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงได้